Sep 13, 2012

สิ่งมหัศจรรย์แห่งอียิปต์


Trip Dec.2007 : Egypt



photo gallery: Explore Egypt In 7 Days http://www.pbase.com/ton_manuswee/egypt 

และแล้วผลโหวต 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอันใหม่ก็ฝ่ากระแสคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์กันออกมาจนได้ มีทั้งที่ๆคนพยักหน้าเห็นด้วย และบางที่ๆหลายคนขมวดคิ้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับเป็นเรื่องที่สภาสูงสุดด้านวัฒนธรรมโบราณและกระทรวงวัฒนธรรมของอียิปต์ได้ออกมาประท้วงการจัดงานครั้งนี้และปฏิเสธที่จะให้ปิรามิดแห่งเมืองกิซาเข้าร่วมในการแข่งขันจัดอันดับด้วย โดยเหตุผลง่ายๆก็คือ ปิรามิดของเขานั้นมหัศจรรย์และมีคุณค่าทางประวัติศาสต์มากมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรอีก ท่านแอนติเพเธอแห่งไซดอน (Antipater of Sidon) นักปราชญ์ชาวกรีกผู้เลื่องชื่อ ได้คัดเลือกแล้วว่ามหาปิรามิดของเราเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณและคงเป็นสิ่งเดียวที่หลงเหลือมาสู่ปัจจุบันนี้ นอกจากนั้นการจัดอันดับใหม่นี้ก็เป็นแบบอคาเดมีแฟนเตเชียเสียอีก คือโหวตคะแนนตามความชอบของคนทั่วไป ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางศิลปะ วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ แถมยังไม่มีการควบคุมการโหวตซ้ำอีกด้วย
ทำไมชาวอียิปต์ถึงช่างอวดตัวกันนักนะ ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของมหาปิรามิดจนไม่ยอมให้เอาไปเปรียบเทียบกับใครแบบที่คิดว่าไม่อยู่ในมาตรฐานทัดเทียมกันทีเดียวเลยหรือ จะรู้ได้ก็คงต้องไปดูให้เห็นกับตา ไปสัมผัสกับมือ ประเทศอียิปต์อยู่ใกล้แค่เอื้อม ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ออกเดินทางราวตีหนึ่งไปถึงกรุงไคโรเวลาเช้ามืด แล้วก็ออกตะลุยดินแดนมหาปิรามิดแห่งนี้ได้เลย


ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจกันก่อนว่าปิรามิดใช้เพื่อเป็นที่เก็บมัมมี่พระศพขององค์ฟาโรห์นั่นเอง แต่ก่อนจะมาเป็นปิรามิดนั้น ที่ฝังศพในยุคแรกๆของกษัตริย์และราชวงศ์รวมถึงขุนนางชั้นสูง นิยมใช้หินก่อเป็นห้องลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาแบนราบทับอยู่บนที่ฝังศพ เรียกกันว่ามาสตาบา (Mastaba) มีช่องทางลงไปยังที่เก็บศพหรือหลุมศพจากด้านหลังคา ภายในวาดภาพหรือสลักภาพต่างๆบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของสุสาน ต่อมาฟาโรห์โซเซอร์ (Djoser) ในราชวงศ์ที่ 3 ประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสต์กาล พระองค์ได้มีคำสั่งให้อิมโฮเทปผู้เป็นสถาปนิกและคนสนิทของพระองค์ ทำการออกแบบและก่อสร้างสุสานสำหรับบรรจุพระศพของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น อิมโฮเทปจึงออกแบบให้เป็นมาสตาบาก่อซ้อนกันขึ้นไป 6 ชั้นลดหลั่นกันทุกระดับ จึงถูกเรียกว่าปิรามิดขั้นบันไดหรือ Step pyramid


ดังนั้นหากอยากเข้าใจถึงวิวัฒนาการของการสร้างปิรามิดให้ลึกซึ้ง จึงควรเริ่มต้นการท่องเที่ยวที่เมืองซัคคารา (Sakkara) ซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ของกรุงไคโรราว 15 ไมล์ ปิรามิดของฟาโรห์โซเซอร์ หรือปิรามิดขั้นบันไดแห่งเมืองซัคคารา มีความสูงวัดจากฐานถึงยอดประมาณ 200 ฟุต ฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกยาว 411 ฟุต และวัดจากด้านเหนือสุดลงไปถึงทางใต้สุดของฐานยาว 358 ฟุต บริเวณใจกลางภายในโครงสร้างปิรามิดจะเป็นมาสตาบาสูง 26 ฟุตก่อด้วยหินปูนธรรมดา ส่วนพวกขุนนางก็ยังคงฝังศพในมาสตาบาเช่นเดิม


ในยุคต่อมา ฟาโรห์สเนฟรู (Snefru) มีการก่อสร้างปิรามิดอีกหลายปิรามิดที่เมืองแดชชู (Dashur) ซึ่งอยู่ห่างจากซัคคาราไปอีกราว 20 ไมล์ โดยปรับให้ทุกด้านลาดเอียงขึ้นสู่ยอดปิรามิด ภายนอกฉาบผิวเรียบ ปิรามิดอันหนึ่งที่ทรงสร้างมีองศาในการสร้างที่ค่อนข้างแปลก คือในส่วนล่างทำมุม 52º กับพื้นดิน แต่ได้เปลี่ยนองศาการก่อสร้างในช่วงกลางของปิรามิดเป็น 43.2º ไปจนถึงยอดปิรามิด ทำให้ปิรามิดมีลักษณะโค้ง จนเรียกขานกันว่า ปิรามิดโค้ง หรือ Bend pyramid บ้างก็พูดว่าเป็นความล้มเหลวในการพยายามสร้างปิรามิดยุคแรก ปิรามิดอีกอันหนึ่งที่ฟาโรห์สเนฟรูทรงสร้าง ทำมุม 43º ตลอดจนถึงยอดมีลักษณะปิรามิดสมจริงสูง 341 ฟุต ฐานแต่ละด้านกว้าง 722 ฟุต ถูกขนานนามว่า ปิรามิดสีแดง (Red pyramid) มีโครงสร้างหลักมาจากหิน reddish sandstone จะมองเห็นเป็นสีส้มอมชมพูเมื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ ถือว่าเป็นปิรามิดทรงสมจริงแห่งแรกของโลกก็ว่าได้

แต่ปิรามิดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปิรามิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ มหาปิรามิดแห่งเมืองกิซา สร้างได้ลักษณะสมมาตรทำมุม 50º กับพื้นดินในทุกด้าน ด้านนอกฉาบผิวเรียบ สร้างในสมัยพระโอรสของฟาโรห์สเนฟฟรู ที่มีชื่อว่าฟาโรห์คูฟู (Khufu) นั่นเอง ในราว 2,500 ปีก่อนคริสต์กาล ฟาโรห์คูฟูได้มีคำสั่งให้ก่อสร้างปิรามิดสำหรับพระองค์ที่เขตเมืองกีซ่าชานเมืองไคโรในปัจจุบัน  ปิรามิดแห่งนี้เดิมสูง 480.9 ฟุต แต่ปัจจุบันหักพังลงเหลือเพียง 455 ฟุต ฐานแต่ละด้านกว้าง 768 ฟุต ใช้หินทรายตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมหนักประมาณก้อนละ 2 ตันครึ่ง บางก้อนหนักถึง 16 ตัน โดยการนำเอามาซ้อนกันขึ้นไป ซึ่งต้องใช้หินไม่น้อยกว่า 2,500,000 ก้อน รวมน้ำหนักกว่า 6,000,000 ตัน ส่วนฐานกินเนื้อที่ถึง 12 เอเคอร์หรือราว 20 ไร่ มีช่องทางแคบๆเจาะลึกเข้าไปภายในปิรามิด ไปจนถึงห้องโถงกลางสำหรับเก็บพระศพ




ถัดจากมหาปิรามิดคูฟูเป็นปิรามิดของฟาโรห์คาฟเร (Khafre) พระโอรสของฟาโรห์คูฟู มีขนาดเล็กกว่ามหาปิรามิดเล็กน้อยคือสูงประมาณ 471 ฟุต แต่จะมองเห็นสูงใหญ่กว่าเพราะสร้างอยู่บนเนินที่มีระดับสูงกว่าประมาณ 30 ฟุต ส่วนยอดของปิรามิดยังเห็นปูนฉาบเรียบหลงเหลืออยู่บ้าง ส่วนอื่นๆได้หลุดร่อนหายไปตามกาลเวลา ปิรามิดอันเล็กลงมาคือปิรามิดของฟาโรห์เมนคูเร (Menkaure) ซึ่งเป็นพระโอรสของฟาโรห์คาฟเร ที่ว่าเล็กก็ยังสูงร่วม 60 ม. และยังมีปิรามิดราชินีเล็กๆอีก 3 หลัง นอกจากสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ที่เรียกว่าปิรามิดแล้ว ยังมีรูปสลักหินขนาดใหญ่สูงกว่า 65 ฟุต มีตัวเป็นสิงโตหัวเป็นคนนอนหมอบเฝ้าปิรามิดคาฟเร รู้จักกันไปทั่วโลกว่า สฟิงซ์ (Sphinx) หลายคนเชื่อกันว่ารูปหน้าของสฟิงซ์คือพระพักต์ของฟาโรห์คาฟเรเอง แต่ก็ไม่ทราบว่าพระองค์จะหล่อเหลาขนาดไหน เพราะใบหน้าของสฟิงซ์ได้หักพังไปตามกาลเวลาเช่นกัน ทั้งจากลมฝนแห่งทะเลทรายและการทำลายจากผู้รุกราน

ความมหัศจรรย์ของปิรามิดแห่งเมืองกีซาถูกศึกษาและค้นพบกันอย่างไม่รู้จบ ทั้งความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ต้องสกัดหินจากแหล่งหินที่อยู่ไกลนับร้อยไมล์ สกัดตัดแต่งให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ขนส่งมาตามลำน้ำไนล์ ใช้แรงงานคนนำก้อนหินหนักเป็นตันๆขึ้นมาวางซ้อนกันอย่างได้ระยะได้พิกัดแม่นยำ หรือความมหัศจรรย์ทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ เช่น นำความกว้างของฐานปิรามิดหารด้วยสองเท่าของความสูงปิรามิดให้บังเอิญได้ค่าเท่ากับ 22/7 คือค่า p ซึ่งสัมพันธ์กับเส้นรอบวงและรัศมีของวงกลม หากคุณเคยเรียนวิชาคณิตศาสตร์คงจะพอรู้จักเจ้าค่าไพน์นี้ หรือความมหัศจรรย์ทางด้านวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์ ก็ได้มีการทดลองเรื่องพลังงานภายในโครงสร้างปิรามิด เรื่องสนามแม่เหล็กตามแนวเหนือใต้ ต่างได้ผลมหัศจรรย์มากมาย

เมื่อได้มายืนอยู่ใกล้ๆกับสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาทั้งปิรามิดและสฟิงซ์แล้ว ก็พอเข้าใจว่าเหตุใดชาวอียิปต์ถึงได้ภาคภูมิใจในสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์เหล่านี้ หินแต่ละก้อนที่นำมาก่อซ้อนกัน มีขนาดใหญ่โตจนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าความรู้ความสามารถของคนห้าพันกว่าปีก่อน ที่ไม่มีเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ไม่มีเครื่องมือเครื่องทุ่นแรง จะตัดจะขนส่งและยกกันขึ้นไปเรียงด้วยแรงกำลังของมนุษย์ได้อย่างไร สัดส่วนที่ลงตัวและความสมดุลย์ในโครงสร้างล้วนเป็นสิ่งมหัศจรรย์โดยแท้…..

แต่อียิปต์ก็ไม่ได้มีความมหัศจรรย์แค่เพียงสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่าปิรามิดเท่านั้น หากเดินทางเลาะลงใต้ไปตามลำน้ำไนล์ จากกรุงไคโรไปราว 420 ไมล์ถึงเมืองลักซอร์ (Luxor) หรือนครธีปต์ (Thebes) อดีตเมืองหลวงในราชวงศ์ที่ 12 คุณจะตะลึงกับความยิ่งใหญ่สวยงามของวิหารลักซอร์และวิหารคาร์นัค (Karnak) ที่ฟาโรห์หลายยุคสมัยร่วมกันสร้างถวายแก่เทพอามุน-รา (Amun-Ra) เทพีมัต (Mut) และเทพคอนซู (Khonsu) เสาต้นใหญ่ขนาดสิบคนโอบ สูง 23 ม. นับร้อยต้นในห้องโถงใหญ่ (The great Hypostyle Hall) สลักภาพเทพเจ้าต่างๆและเรื่องราวความเชื่อความศรัทธาของชาวอียิปต์โบราณ จินตนาการได้ถึงตอนที่วิหารยังสมบูรณ์เป็นสถานที่สำหรับองค์ฟาโรห์และนักบวชชั้นสูงใช้เป็นที่ทำพิธีสักการะเทพอามุน-รา สฟิงซ์ที่นอนหมอบเรียงเป็นแถวยาว เคยมีตลอดทางเดิน 3 กม.ระหว่างสองมหาวิหาร เสาโอเบลิสก์แกะสลักอักษรภาพเฮียโรกราฟฟิคละเอียดลึก ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวิหาร ช่างมหัศจรรย์ทั้งขนาด การสร้าง การขนส่ง และการนำเสาสูงร่วม 20 ม. มาวางตั้งได้อย่างมั่นคง ข้ามแม่น้ำไนล์ไปฝั่งตะวันตกของเมืองลักซอร์ ผ่านทุ่งทะเลทรายร้อนระอุมุ่งสู่ยอดเขาแหลมทรงปิรามิดของเทือกเขาธีบัน (Theban) เป็นที่ตั้งของ หุบผากษัตริย์ (Valley of the King) ที่ฝังพระศพฟาโรห์ในยุคหลังจำนวนมากมาย ที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยของสุสานแถมยังสิ้นเปลืองเงินและแรงงานน้อยกว่า สุสานยุคนี้จะขุดอุโมงค์เข้าไปเป็นทางยาวลึกจนถึงห้องเก็บพระศพ มีทางแยกเป็นห้องเล็กๆเก็บทรัพย์สมบัติสำหรับชาติภพหน้า ทั้งผนังและเพดานแกะสลักลวดลายละเอียดพร้อมวาดภาพลงสีสดใส เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าและชีวิตหลังความตาย หีบศพหินแกรนิตแกะสลักขนาดใหญ่ในห้องเก็บพระศพก็แสดงถึงฝีมือและความอดทนของคนงาน เสียดายที่ไม่สามารถรอดพ้นโจรปล้นสุสานไปได้ ภายในสุสานส่วนมากจึงเหลือแต่ความว่างเปล่า คงเหลือแต่สุสานของฟาโรห์ผู้ครองราชย์แสนสั้นเพียงแค่ 9 ปีเท่านั้น นามว่าตุตันคามุน (Tutankhamun) ที่ลอร์ดคานาวอห์นและโฮเวิร์ด คาเตอร์ เป็นผู้ค้นพบและเปิดสุสานที่เหลือรอดแห่งนี้ให้ชาวโลกได้ตกตะลึงกับสมบัติต่างๆมากมาย




จากเมืองลักซอร์ เดินทางต่อไปที่เมืองเอ็ดฟู (Edfu) เมืองชนบทที่เป็นที่ตั้งของวิหารเอ็ดฟู วิหารแห่งเทพฮอรัส เป็นวิหารที่ยังมีความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง ซุ้มประตูขนาดใหญ่สูง 37 ม. สลักภาพการสู้รบของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 12 ยังคงชัดเจนอยู่เต็มผนัง ประติมากรรมลอยตัวด้วยหินสีดำขนาดใหญ่ของนกเหยี่ยวตัวแทนเทพฮอรัสตั้งอยู่ทั้งซ้ายและขวาของทางเข้าวิหารส่วนใน ผนังด้านในสลักภาพการสู้รบระหว่างเทพฮอรัสและเทพเซธ บางผนังสลักเป็นเรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ซึ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย.... ห่างไปอีกเพียงครึ่งชั่วโมง ที่เมืองคอม ออมโบ (Kom ombo) เมืองเกษตรกรรมที่สำคัญทางแดนใต้ วิหารคอมออมโบสร้างอยู่ติดริมแม่น้ำไนล์เพื่อบูชาเทพโซเบคและเทพฮอรัส เทพที่มีศีรษะเป็นจระเข้และเหยี่ยว ผนังด้านในวิหารมีภาพสลักเกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์ที่ไม่น่าเชื่อสำหรับคนยุคนั้น โถงกลางยังพบภาพสลักอักษรภาพเฮียโรกริฟฟิคแสดงการกำหนดวันเดือนปีคล้ายปฏิทินในยุคปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณมีความรู้ความเชี่ยวชาญแทบทุกศาสตร์สาขา

เลาะลำน้ำไนล์ต่อไปจนถึงเมืองอัสวาน (Aswan) แหล่งหินแกรนิตสีชมพูที่ใช้สกัดเสาหินโอเบลิสก์เพื่อส่งล่องลำน้ำไนล์ไปยังวิหารต่างๆ ในอดีตเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์จะถูกน้ำท่วมสูง 2-3 เดือนเสมอ ในปี 1960 จึงได้มีความคิดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำไนล์ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำและยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง จุดประสงค์เหมือนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ของเราโดยแท้ เขื่อนอัสวาน (Aswan high dam) ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 10 ปี กับชีวิตคนงานหลายสิบชีวิต และงบประมาณมหาศาล มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกทีเดียว ผลจากการสร้างเขื่อนทำให้ เกิดทะเลสาปกว้างใหญ่ คือทะเลสาปนาซเซอร์ (Lake Nasser) ผลกระทบสำคัญคือน้ำในทะเลสาปนี้จะท่วมสิ่งก่อสร้างสมัยอียิปต์โบราณหลายสิบแห่งด้วยกัน ยูเนสโกจึงเป็นเจ้าภาพในการระดมทุนทำการย้ายสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นเท่าที่ทำได้ขึ้นมาไว้ที่สูง เช่น กลุ่มวิหารฟิเล (Temple of Philae) ก็ตัดวิหารออกเป็นชิ้นๆนำมาประกอบใหม่ให้เหมือนเดิมบนเกาะอากิลเกีย (Agilkia) ทำให้เรายังมีโอกาสได้ชมวิหารไอซิสหลังใหญ่ แม้ภาพสลักบางส่วนจะถูกทำลายเมื่อคราวชาวโรมันพยายามนำศาสนาคริสต์เข้ามาในอียิปต์ก็ตาม..... หรือ วิหารอาบูซิมเบล ที่ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ผู้ยิ่งใหญ่สกัดเจาะภูเขาเข้าไปสร้างเป็นวิหารบูชาเทพโฮรัคติ หน้าทางเข้าสกัดเป็นรูปพระองค์นั่งบนบัลลังก์สูงเต็มหน้าผา ภายในยังสลักภาพการสู้รบของพระองค์ และอักษรภาพเฮียโรกราฟฟิคบอกเล่าเรื่องราวมากมาย วิหารเล็กถัดไปอีกเขาหนึ่งทรงสร้างเพื่อพระนางเนเฟอร์ตารีมเหสีอันเป็นที่รัก ก็สกัดภูเขาเข้าไปสร้างห้องสักการะเทพเฮเธอร์ (Hathor) ด้านหน้าวิหารสกัดเป็นรูปพระองค์ยืนเคียงข้างกับมเหสีเต็มหน้าผาเช่นกัน วิหารอาบูซิมเบลก็อยู่ในโครงการย้ายหนีน้ำในครั้งนั้นด้วย เพียงแค่ความใหญ่โตของตัววิหาร ความสวยงามของภาพสลักภายใน ก็มหัศจรรย์มากมายแล้ว ยังมีความสามารถทางดาราศาสตร์และการคำนวณให้แสงอาทิตย์ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์และ 22 ตุลาคมของทุกปี สาดส่องผ่านประตูวิหารหลังใหญ่เข้ามายังห้องบูชาที่อยู่ลึกจากทางเข้าไปถึง 65 ม. ส่องไปที่รูปสลักของเทพรา-โฮรัคติ, รูปสลักองค์ฟาโรห์รามเสสที่ 2 และเทพอะมุน-รา แต่ไม่ส่องโดนเทพพทาร์ (Ptah) ที่อยู่ซ้ายสุดเพราะเป็นเทพแห่งความมืด การสร้างภูเขาจำลองและตัดต่อขนย้ายวิหารทั้งหลังขึ้นมาสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมแม้แต่ช่วงวันที่แสงส่องห้องบูชา ใช้เวลากว่า 4 ปี นั่นก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์เหมือนกัน

ใช้เวลาในอียิปต์แค่เพียงสิบวันเดินทางเลียบลำน้ำไนล์ ทำให้พบว่าชาวอียิปต์สามารถที่จะเลือกเอาสิ่งก่อสร้างต่างๆในประเทศของตัวเองมารวมเป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งอียิปต์เลยก็ยังได้ ทั้งมหาปิรามิดแห่งเมืองกิซา, ปิรามิดขั้นบันไดแห่งซัคคารา, เสาหินโอเบลิสก์, วิหารลักซอร์, วิหารคาร์นัค, หุบผากษัตริย์, วิหารอาบูซิมเบล และอื่นๆอีกมาก ไม่จำเป็นต้องไปจัดอันดับกับใครก็ได้จริงๆ.....












story copyright by iammanus



No comments:

Post a Comment