Sep 19, 2012

เดินย่องๆท่องธิเบตกับต้น-วัฒน์

Trip Apr. 2012 : Tibet


ร้อนๆๆ สงกรานต์เมืองไทยปีนี้มันร้อนมาก ทั้งอากาศและบรรยากาศ หลบลมร้อนไปเที่ยวหนาวๆสัก 5-6 วันท่าจะดี พี่อิสชวนไปธิเบต private group กับพวกเพื่อนๆพี่เขา ประมาณ 10 คน เอาๆๆ อยากไปธิเบตนานแล้ว ไปคราวนี้ออกแนวไฮโซ โดยบินไปลงเฉินตูปรับสภาพ 1 คืน แล้วก็บินต่อไปลาซา แล้วก็บินกลับมาเฉินตูมาดูหมีแพนด้าก่อนกลับ (อยู่เมืองไทยไม่เคยสนใจเล๊ยยยย...)


Tibet Photo Gallery at Pbase.com > http://www.pbase.com/ton_manuswee/tibet



Day 1 : Bangkok - Chengdu

บินการบินไทยรักคุณเท่าฟ้าไปเฉินตู (Chengdu) เมืองหลวงของมลฑลเสฉวน (Sichuan) ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง กินอิ่มนอนหลับแป๊ปเดียวก็ถึงแล้ว ปรับนาฬิกาให้เร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง ก็เป็นเวลาประเทศจีนแล้ว เราไปถึงสนามบินเฉินตู (Chengdu Shuangliu International Airport) ตอนประมาณบ่ายสามโมง ตรวจเอกสารรับกระเป๋าเสร็จก็ออกมาพบกับพี่ไกด์ชาวจีนที่พูดไทยได้ดี แนะนำตัวว่าชื่อ อาเผิง (ซึ่งวันหลังๆเราถึงรู้ว่าต้องเรียกผู้พันเพิงนะ เพราะฮีเป็นทหารนอกราชการ โฮ่...) อาเผิงจะพาไปเที่ยววัดสามก๊ก (อู่โหวฉือ, Wuhou Ci ~ Wuhou Memorial Temple) เป็นที่แรก วัดสามก๊กเนี่ยอยู่กลางเมืองเฉินตูเลย ประวัติความเป็นมาอะไรก็ไม่ค่อยได้ฟัง มีรูปปั้นเกี่ยวกับสามก๊กเยอะแยะไปหมด ทั้งขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย เดินถ่ายรูปตามพี่ๆน้องๆไปเรื่อยๆ คนไทยคนจีนเที่ยวกันเต็มวัด

จบจากวัดสามก๊ก ก็ประเดิมอาหารจีนกันที่ภัตตาคาร ผักเพียบ ผัดมามันเยิ้มทีเดียวเชียว ปลาจีนก้างแฉกนึ่งซีอิ๊ว ซาละเปาก็พอใช้ได้ คืนนี้เรามีรายการไปดูโชว์เปลี่ยนหน้ากาก โชว์ขึ้นชื่อของเมืองเฉินตู อันนี้อยากดูมาก โชว์เริ่มสองทุ่มกว่า ยังมีเวลาเหลือเฟือ เลยไปเดินเล่น แถบชุนซีลู่ ซิงเหนียงลู่ เป็นย่านช็อปปิ้งร้านแบรนด์เนมต่างๆ ก็ไม่ใช่แบรนด์หรูอะไรหรอก ส่วนมากเป็นแบรนด์ในประเทศเขานั่นแหละ แต่เป็นลานน่าเดินเล่นทีเดียว ทั้งวัยรุ่นทั้งนักท่องเที่ยวเดินกันเยอะ แยกย้ายกันเดินเล่นจนถึงเวลาไปดูโชว์ เพราะที่แสดงก็อยู่ไม่ไกลจากย่านนั้น ก็เดินไปเจอกันตามเวลานัด

อาเผิงซื้อบัตรโคตรถูกแน่นอน เพราะเรานั่งหลังเกือบสุดเลย ดีที่โรงมันไม่ใหญ่มาก นักท่องเที่ยวทยอยๆกันเข้ามา ฝรั่งตรงเวลาเหมือนเคยเข้ามาก่อนการแสดงหมด และคนจีนก็ไม่มีระเบียบวินัยเหมือนเคย โชว์แริ่มแล้วมันยังเข้าๆออกๆกันอยู่เลย น่ารำคาญอย่างยิ่ง การแสดงจัดแสงสีได้ดีทีเดียว แต่มีหลายชุดกว่าถึงชุดไฮไลต์ โชว์เปลี่ยนหน้ากากมัน Amazing จริงๆแหละ เปลี่ยนได้ปุ๊บปั๊บฉับไว มองไม่ทัน ชอบมากๆ แนะนำให้ไปดู...คืนนี้นอนโรงแรม 4 ดาว สบายซะ แต่พรุ่งนี้เช้าต้องออกแต่เช้ามืดตีห้ากว่าเพื่อไปขึ้นเครื่องไปธิเบต........

Day 2 : Lhasa > Drepung Monastry

ช้าตรู่วันต่อมาเราก็สลึมสลือไปสนามบินเฉินตูกันอีกรอบ เพื่อบินภายในประเทศไปเมืองลาซา (ให้ตายเถอะ เราคิดว่าบินระหว่างประเทศทุกทีไป เฮ้อ...เมื่อไหร่จะ Free Tibet!!!!) ต้องทำการตรวจเอกสารกันอีกรอบ เพราะต้องมีใบอนุญาตเข้าธิเบตด้วย ซึ่งอาเผิงเตรียมมาแล้ว ถ้าไม่มีก็ไปไม่ได้แม้จะเป็นภายในประเทศ เอ๊ะ...ยังไงกัน บินไปประมาณชั่วโมงแก่ๆ เครื่อง Air China เสริ์ฟอาหารเช้าเป็นข้าวต้ม!!! มีผักกาดดอง 1 ซอง ไข่ต้มซีอิ๊ว 1 ฟอง แล้วก็ถั่วต้ม ได้อารมณ์ซัวเถามากๆ

ไปถึง Lhasa Gonggar Airport ในสภาพบรรยากาศมัวซัวสุดๆ ฟ้าหลัว ลมหนาวโชย พวกเราได้ไกด์ธิเบตเพิ่มมาอีก 1 คน ไม่ได้ยินว่าชื่ออะไร เราเรียกกันว่าพี่แว่น และยังมีสาวน้อยวัยรุ่นอีก 1 คน ที่ตาแว่นบอกว่าน้องเขาติดมาฝึกงาน ตาแว่นพ่นภาษาจีน แล้วอาเผิงแปลภาษาไทยให้พวกเราฟัง ตาแว่นพ่นยาวเท่าหางยีราฟ อาเผิงแปลสั้นเท่าหางหนู ไม่รู้ว่าแปลไม่ได้หรือขี้เกียจแปล

สนามบินลาซาอยู่ห่างจากตัวเมืองไกลโข ต้องนั่งรถไปค่อนชั่วโมงทีเดียว มีช่วงลอดอุโมงยาวที่เจาะเขาทั้งลูก พี่แว่นบอกว่าทำให้ร่นระยะทางและเวลาไปได้มากทีเดียว โผล่ออกมาก็เป็นสะพานข้ามแม่น้ำพรหมบุตร (Brahamaputra หรือ Yarlung River) แม่น้ำสายสำคัญของธิเบต แต่วันนี้แห้งขอด มองเห็นสันทรายเป็นช่วงๆ เสียงลมพัดด้านนอกยิ่งทำให้รู้สึกได้ถึงความหนาวและแห้งแล้งรับกับภาพพื้นดินแห้งๆตลอดทาง

ผ่านทางเข้านิคมอุตสาหกรรมแห่งลาซาก็เริ่มเข้าเขตเมือง มองเห็นตึกอาคารใหญ่ๆเยอะแยะ ลาซาต่างจากที่เราคาดไว้มากมาย ถนนหนทางใหญ่โตกว้างขวางเสาไฟตามถนนสูงสวยงามจนนึกว่าอยู่สุพรรณบุรี แต่มันก็ขัดกับลักษณะผู้คนที่ยังเป็นชาวพื้นบ้านธรรมดาๆ เราก็ไม่เข้าใจความคิดของรัฐบาลจีนว่าการนำความเจริญทางวัตถุเข้ามามากมายนั่นเพราะความปรารถนาดีกับชาวธิเบตหรือต้องการกลืนกินธิเบตกันแน่ แต่ที่แน่ๆชาวบ้านก็ยังเดินถือกงล้อมนต์กันทั่วไปขัดกับอาคารสถานที่ใหญ่ๆโตๆและถนนกว้างๆเสาไฟสูงๆที่จีนนำเข้ามา

กิจกรรมแรกในลาซาคืออาหารกลางวันที่ภัตตาคารใหญ่แต่เงียบเหงาในตัวเมือง อาหารจีนมากมายถูกยกมาเสิร์ฟ แค่ชั่วระยะเวลาชั่วโมงกว่าจากสนามบินก็ทำให้สมาชิกสูงอายุหนึ่งเดียวของเราถึงกับออกอาการได้ คุณแม่อายุหกสิบกว่าเริ่มออกอาการมึนหัวคลื่นไส้ แม้ว่าอาเผิงจะให้ยาจีนพวกเรากินป้องกันตั้งแต่ที่เฉินตูแล้วก็ตาม ยาจีนที่ให้เป็นสมุนไพรอะไรบ้างเราก็ไม่รู้ กินกันครั้งละ 2 เม็ดเช้าเย็น นอกจากคุณแม่แล้วพี่อิสก็เริ่มเกิดอาการมึนๆเหมือนกัน เผลอวิ่งกลับไปเอาของที่รถนิดเดียวถึงกับหน้ามืดกันเลย ต้องคอยเตือนกันว่าให้ทำอะไรช้าๆหายใจลึกๆหมั่นตรวจดูสภาพอาการตัวเองตลอดเวลา เพราะเราในเวลาไม่ถึง 2 ชม.เราเปลี่ยนระดับความสูงจาก 550 ม.จากระดับน้ำทะเล ที่เฉินตูมาเป็น 3,700 ม.ที่ลาซา มันสูงขึ้นกว่า 5-6 เท่าเชียวนะ....

เสร็จอาหารกลางวันแล้วคงต้องเข้าเช็คอินที่โรงแรมกันก่อน อย่างน้อยก็ไปพักผ่อนกันสักหน่อย และคุณแม่คงต้องนอนพักกันล่ะวันนี้ ทัวร์จัดโรงแรมใหญ่โตโอ่โถงวิวภูเขาสวยงามแต่อยู่ห่างจากย่านกลางเมืองไปหน่อย เข้าโรงแรมแล้วก็คงไปไหนไม่ได้สะดวก โรงแรมเงียบสงบเหมือนว่าเราเป็นกรุ๊ปเดียวในโรงแรม ขึ้นห้องพักผ่อนกันสักชั่วโมงก่อนแล้วนัดพบกันเพื่อไปเที่ยวสักที่หนึ่งวันนี้ (แต่หากมีเวลามากกว่านี้แนะนำว่าวันแรกให้พักผ่อนยาวไปเลย หากพักกลางเมืองก็สามารถออกมาเดินเล่นดูของดูตลาดแถวโรงแรมได้ แล้วค่อยออกเที่ยววันรุ่งขึ้น ก็จะเป็นการดีกว่า)

ถึงเวลานัด พวกเราก็เหลือกัน 9 ชีวิต แจงอยู่โรงแรมเป็นเพื่อนคุณแม่ ปล่อยพวกเราออกไปเที่ยวกัน ตามรายการที่เขียนไว้วันนี้จะไป นอร์บุหลิงคา (Norbulingka) ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อนของดาไลลามะ วังนี้จะอยู่กลางเมืองเลย แต่อาเผิงบอกว่าพี่แว่นให้เราไปเที่ยวอันไกลก่อน พวกเราก็โอเคยังไงก็ได้นะ วันนี้พวกเราจึงเปลี่ยนไป Drepung Monastery กันก่อน อารามเดรปุงอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กม. นั่งรถไปไม่นานก็ถึง ลงจากรถมาก็ต้องเริ่มเดิน ซึ่งทางเดินเป็นบันไดลัดเลาะตามขอบรั้ววัดไปเรื่อยๆ ตอนนี้ทุกคนเริ่มแสดงอาการถ้วนหน้า เดินไป 5-6 ก้าวก็ต้องหยุดพักแล้ว เราเองก็รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ เดินๆหยุดๆไปตลอด ทั้งๆที่ทางก็ไม่ได้ชันอะไรมาก แต่ระยะทางก็ยาวเป็นร้อยๆเมตรเหมือนกัน ได้ถ่ายรูปเยอะเลยเพราะเหนื่อยหยุด เหนื่อยหยุด บางคนก็ล้วงยาดมมาดม บางคนก็นั่งพักสูดอ็อกซิเจนกระป๋องกันคนละฟืดสองฟืด ขนาดเราที่รอดตายจากย่าดิง, แชงกรีล่ามาแล้ว รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรก็ยังหน้ามืดเป็นระยะๆ

แต่ในที่สุดก็ไต่มาจนถึงอารามด้านบนได้ อารามเดรปุงด้านในเงียบสงบมืดๆทึมๆ รายล้อมไปด้วยรูปปั้น, รูปเคารพต่างๆ แล้วก็รูปปั้นดาไลลามะองค์ก่อนๆ ถ่ายภาพด้านในได้โดยจะมีลามะมาขอเก็บเงิน 10-20 หยวนแบบไม่มีใบเสร็จ ช่างเถอะถือว่าทำบุญให้วัด จริงๆแล้วไฮไลต์อีกอย่างของวัดนี้น่าจะเป็นการฝึกตรรกวิภาษ คือการฝึกปุจฉา-วิสัชชนา ถามตอบเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาต่างๆ ทั้งเรื่องศาสนาและชีวิต การถามตอบโดยพระจับคู่กันถามตอบมีการออกท่าทางตบมือตบเข่าดังฉาดพร้อมเสียงดังดุดัน การฝึกนี้จะฝึกกันในช่วงเวลาประมาณบ่ายสองถึงบ่ายสี่โมง แต่พวกเราไปถึงวัดก็ห้าโมงเย็นไปแล้ว วัดจึงได้เงียบสงบสงัดนัก เจอแต่พระที่มาเรียกเก็บเงินค่าถ่ายรูป นอกนั้นไม่เจอพระสักรูป เหมือนเดินเที่ยววัดร้าง ได้แต่เดินดูภาพวาดฝาผนังงามๆและอาคารสวยๆแปลกตา

เดินจนทั่วก็ทะลุออกไปอีกด้านหนึ่งของอาคาร พวกเราเดินออกไปพร้อมกับคนงานก่อสร้างมากมายคงเพิ่งเลิกงานกันพอดี ตอนนี้ที่อารามเดรปุงกำลังทำการซ่อมแซมปรับปรุงและวางระบบระบายน้ำรอบๆวัด ตอนเดินขึ้นก็ต้องปีนบันไดสลับปีนป่ายกองดินกองหินที่ขุดเพื่อวางท่อไปตลอดทาง ตอนออกมาเจอกับถนนที่รถสามารถวิ่งขึ้นมาส่งได้ถึงประตูเลย ก็ไม่รู้ทำไมถึงต้องให้เราปีนจากด้านล่างมาจนเกือบขาดใจตาย พี่แว่นอาจอยากให้เราได้เห็นแนวเขาเห็นธงมนต์ตามรายทาง หรืออยากให้พวกเราเข้าถึงสัจจธรรมชีวิตก็ไม่รู้

รอดชีวิตจากอารามเดรปุงกันครบทั้ง 9 ชีวิต ก็กลับมาโรงแรมกัน วันนี้ผู้พันเผิงเลยติดต่อให้พวกเรากินอาหารเย็นที่โรงแรม ทุกคนเดินกลับห้องกันอย่างระโหยโรยแรง หาความสดชื่นใส่ตัวแล้วถึงลงมากินอาหารเย็นกัน กินกันได้ไม่ค่อยมากก็ขอตัวไปพักกันหมด ใกล้ๆเที่ยงคืนพี่วัฒน์เรียกหาอ็อกซิเจน บอกว่าอยากได้มาสูดสักหน่อย ไอ้เราก็ไม่รู้เบอร์ห้องอาเผิง อ็อกซิเจนกระป๋องก็ไม่ได้ขอไว้ เลยลงไปที่เคาเตอร์ข้างล่าง สาวธิเบตหน้าแฉล้มได้แต่ยิ้มส่ายหน้า ภาษาอังกฤษก็แล้ว ภาษามือก็แล้ว ขนาดทำมือปิดจมูกแล้วสูดหายใจฟืดๆบอกอ็อกซิเจนๆ สาวพยักหน้าอือออแล้วหยิบ walky talky มาให้ - -“ หมดปัญญาจึงขึ้นไปดูพี่วัฒน์อีกทีถามว่าไหวมั๊ย เขาบอกว่าไหวแค่คิดว่าได้หน่อยก็ดี เมื่อไม่ได้ก็เลยให้นอนหนุนหัวสูงๆหน่อย แล้วก็หายใจลึกๆยาวๆ สักพักก็หลับกันไปได้ รอดตายไปอีก 1 คืน นี่ขนาดผู้ชายตัวโตๆแข็งแรง ที่ตอนกลางวันไม่ออกอาการอะไรเลย หลังจาก 7-10 ชั่วโมงก็แสดงอาการจนได้ เหมือนกับที่ไกด์เตือนล่วงหน้าเลยว่า อาการจะออกหลังจาก 7-10 ชั่วโมงโดยประมาณ ดังนั้นเมื่อถึงธิเบตแล้วไม่เป็นอะไรอย่าเพิ่งฮึกเหิมชะล่าใจไปยังไงก็ต้องระวังตัว...


Day 3 : Lhasa > Potala Palace, Norbulingka Summer Palace, Jokhang

ช้าต่อมาสมาชิกเริ่มปรับตัวได้ลงมารับอาหารเช้าครบทั้ง 11 คน อากาศขมุกขมัวเมื่อวานเปลี่ยนเป็นแดดแจ๋ฟ้าใส โชคดีอะไรเช่นนี้ วันนี้จะเป็นวันไฮไลต์ของลาซา โดยเริ่มจากพระราชวังโปตะลา ต่อด้วยนอร์บุงหลิงฆา แล้วจบด้วยวัดโจคัง ทั้งหมดนี่อยู่ในตัวเมืองลาซาทั้งนั้น หลังอาหารเช้ากายพร้อมใจพร้อม ก็ออกไปชมไฮไลต์ของธิเบตกัน พระราชวังโปตะลา (Potala Palace) เป็นสัญญลักษณ์ของลาซา และของธิเบตก็ว่าได้ เมื่อพูดถึงธิเบตทุกคนก็นึกเห็นภาพพระราชวังใหญ่โตบนยอดเขากลางเมือง นอกจากเป็นสัญญลักษณ์ทางรูปธรรมแล้ว โปตะลายังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวธิเบต เป็นสัญญลักษณ์ทางนามธรรมที่พวกเราไม่มีวันเข้าใจว่าศรัทธาที่ชาวธิเบตมีให้กับโปตะลาและองค์ดาไลลามะนั้นลึกซึ้งและมากมายเพียงใด

รอบๆพระราชวังนอกจากนักท่องเที่ยวจะมากมายแล้ว จำนวนคนที่มากกว่าคือชาวพุทธที่เดินถือกงล้อมนต์พร้อมพร่ำสวด “โอม มณี ปัท เม หุม” เดินวนกันไปรอบๆเชิงเขา บางคนก็เดินไปพร้อมกับหมอบกราบแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” โดยการหมอบกราบด้วยอวัยวะทั้ง 8 คือ 2 มือ 2 ข้อศอก 2 เข่า และ 2 เท้า แนบไปกับพื้น นักท่องเที่ยวต่อแถวยาวเพื่อเข้าชมภายในพระราชวัง พวกเราก็ไปต่อแถวด้วย ในช่วง 2 วันมานี้ เพิ่งจะเห็นนักท่องเที่ยวฝรั่งหัวทองๆก็ที่นี่ที่แรก นอกนั้นเจอแต่นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เดินแถวต่อๆกันไป เมื่อทะลุเข้ามาด้านในมองเห็นพระราชวังอยู่บนยอดเขาสูงใหญ่แหงนมองชนิดคอตั้งบ่าทีเดียว ช่างใหญ่โตอะไรเช่นนี้ อาเผิงและพี่แว่นนำทางเดินเข้าไปด้านใน ไต่บันไดกันอีกแล้ว แต่วันนี้มีเพื่อนร่วมเดินมากมายทั้งชาวต่างชาติ และชาวธิเบตเอง ต่างเดินกันด้วยแววตามุ่งมั่นต้องขึ้นไปให้ถึงด้านบนให้ได้ บันไดหินแต่ละขั้นแต่ละก้าวพาเราสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หันหลังมาก็จะเห็นเมืองลาซากว้างไกลในมุมสูงขึ้นไปเรื่อยๆเช่นกัน เหนื่อยก็หยุดนั่ง หายเหนื่อยก็เดินต่อไป อ็อกซิเจนไม่ได้รับอนุญาตให้เอาเข้ามาแต่พวกเราก็ปรับตัวกันได้มากแล้ว เดินวันนี้ไม่ทรมานเหมือนเมื่อวาน

สุดบันไดก็เข้ามาในอาคาร ทุกคนเดินตามกันไปตามแนวกั้นที่จัดไว้ รายละเอียดพรั่งพรูออกจากปากพี่แว่น แปลเป็นไทยโดยอาเผิง ข้อมูลมากมายที่เราไม่สามารถจดจำได้ในระยะเวลาอันสั้น ได้แต่นึกไว้ว่าคงต้องกลับมาอ่านประวัติและรายละเอียดภายหลัง ตอนนี้ขอดูและบันทึกภาพด้วยกล้องและสองตาให้เต็มที่ดีกว่า โปตาลาที่มองจากด้านล่างมีส่วนที่เป็นอาคารสีขาวและสีแดง แซมด้วยอาคารสีเหลือง เกิดจากการก่อสร้างต่อเติมมาเป็นเวลาหลายสิบปี มีองค์ดาไลลามะที่เคยพำนักอยู่ที่นี่สิบสี่องค์ ดาไลลามะที่ 14 ได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่ไม่นานก็ต้องหนีไปที่อื่น ทำไมท่านถึงอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเองไม่ได้ ปัญหาระหว่างจีนและธิเบตมันลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ขนาดปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยเอง เราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ จะไปเข้าใจปัญหาของบ้านอื่นเมืองอื่นได้อย่างไร

ภายในพระราชวังมืด อับชื้น กลิ่นเทียนลอยอบอวนไปตลอดทาง ชาวพุทธธิเบตเดินทำการสักการะรูปเคารพต่างๆด้วยการสวดมนต์และเอาหน้าผากไปแตะกระจกหรือรั้วกั้น พร้อมดึงเงินใบเล็กๆโยนเข้าไปตามพานตามตู้ บางคนก็เทน้ำมันจากกระติกที่เตรียมมาลงในกระบะเทียน หรือไม่ก็ตักแบ่งเทียนก้อนที่ใส่ถุงมาลงไป เหมือนชาวไทยพุทธทำบุญโดยการเติมน้ำมันในตู้น้ำมันตามวัดนั่นแหละ พวกเราเดินผ่านห้องแล้วห้องเล่ามากมายจนจำรายละเอียดไม่ได้ไม่รู้ว่าเป็นรูปปั้นดาไลลามะองค์ไหนบ้าง เดินจนมาถึงห้องเก็บพระศพขององค์ดาไลลามะหลายๆพระองค์ เจดีย์ที่บรรจุพระศพใหญ่โตสูงร่วม 10 เมตรทั้งนั้น ประดับตกแต่งด้วยทอง เพชร พลอย วูบวาบทีเดียว เจดีย์บางองค์อาเผิงอ้างว่าจีนส่งทองมาช่วยด้วยนะ เราก็ฟังแล้วอือๆออๆไป

ส่วนที่น่าสนใจอีกส่วนคือส่วนที่พักขององค์ดาไลลามะ เห็นแต่ละห้องทั้งเล็กทั้งแคบ ส่วนมากเป็นที่สำหรับนั่งสมาธิ สงสัยจริงๆว่าดาไลลามะเขานอนกันยังไง ไม่เห็นเจอเตียงนอนเลย หรือใช้นั่งสมาธิกัน โฮ่....ถ้าใช่ก็นับถือจริงๆ เดินกันอยู่ด้านในไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ รู้แต่ว่าเดินกันจนเมื่อยนั่นแหละจึงถึงทางออก ออกมาสูดอากาศสดใสภายนอกอีกครั้งแล้วก็เดินตามทางลาดลงไปด้านล่าง เหมือนหลุดกลับออกมาโลกของเราอีกครั้ง รู้สึกหิวกันขึ้นมาถ้วนหน้า

วันนี้เราไปกินอาหารเที่ยงร้านเดิมกับที่เรามาถึงลาซาวันแรก วันนี้เดินกันจนเหนื่อยเลยกินกันเยอะแม้อาหารจะคล้ายๆเดิม ซึ่งเราว่ามันเป็นอาหารจีนไม่ใช่อาหารธิเบตเหมือนที่เราเคยกินที่ชุมชนธิเบตเมืองจงเตี้ยน อิ่มท้องแล้วก็ไปต่อกันที่นอร์บุหลิงฆา พระราชวังฤดูร้อน พระราชวังนี้อยู่บนพื้นราบกลางเมือง สงสัยจังว่าฤดูร้อนทำไมไม่ไปอยู่ที่สูงๆจะได้เย็น แต่ฤดูหนาวกลับอยู่บนโปตะลาสูงเป็นร้อยๆเมตรจากเมือง ด้านในพระราชวังมีวัดให้พวกเราเข้าไปไหว้กันก่อน ที่นี่ได้เจอทัวร์คนไทยที่มีรองเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ร่วมมาด้วย อยู่เมืองไทยไม่เคยพบเลยกลับมาได้พบได้นมัสการท่านที่ธิเบต จากวัดก็เดินต่อไปส่วนที่เป็นพระราชวัง ซึ่งมองดูไม่ใหญ่โตนัก สูง 2 ชั้นมีสวนดอกไม้ สวนไผ่อยู่รอบๆสวยงามดี เดินเข้าไปด้านใน เห็นสภาพเหมือนเป็นบ้านพักจริงๆ มีข้าวของเครื่องใช้อยู่พร้อม ดาไลลามะองค์ที่ 14 องค์ปัจจุบันท่านก็ได้ปรับปรุงต่อเติมและเคยได้พำนักอยู่ที่นี่ด้วย ก่อนต้องลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ หลายอย่างจึงยังคงอยู่เหมือนสมัยที่ท่านยังอยู่

จากพระราชวังฤดูร้อนรถก็ไปส่งเราที่ย่านบาร์คอร์ (Barkhor Street) หรือที่รู้จักกันในชื่อถนนแปดเหลี่ยม เป็นถนนคนเดินเส้นเล็กๆอ้อมรอบวัดโจคัง วัดใหญ่ใจกลางกรุงลาซา ถนนเล็กๆที่แน่นไปด้วยผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ ด้านข้างเต็มไปด้วยแผงขายของ มองไปทางไหนก็เจอกงล้อมนต์ทั้งเล็กทั้งใหญ่ กลายเป็นของที่ระลึกขึ้นชื่อไปเสียแล้ว แต่พวกเราต้องเข้าไปในวัดก่อนเพราะเย็นมากแล้วเดี๋ยววัดจะปิด เดินผ่านด้านหน้าวัดมีนักแสวงบุญมาทำความเคารพแบบอัษฎางคประดิษฐ์เต็มไปหมด ต่างคนต่างสวดมนต์ก้มกราบไม่รู้ทำกันไปแล้วกี่ครั้งและจะทำกันไปอีกกี่ครั้ง พวกเราเดินตัดเข้าด้านในตัววัด ภายในสงบเงียบ ไม่พบแม้พระสักรูป เดินเข้าไปในอาคารเพื่อสักการะรูปเคารพถึงได้พบกับพระหรือลามะ นั่งสมาธิอยู่ตามมุมตามซอกของอาคาร รู้สึกเกรงใจเหลือเกิน นักท่องเที่ยวคงจะรบกวนสมาธิบ้างล่ะ แต่วัดก็ต้องมีเงินเพื่อเอาไว้บำรุงรักษาสถานที่นี่นะ เลยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่ถูกกันแน่ที่จ่ายเงินเข้ามารบกวนท่านถึงภายในนี้

เดินวนอยู่ด้านในจนครบรอบ ก็รีบเดินออกมาเพื่อหาทางขึ้นไปชั้นหลังคา เพื่อหามุมมองไปที่พระราชวังโปตะลา เท่าที่อ่านหนังสือบอกว่าต้องเสียเงินสัก 10 หยวนให้พระเอาบันไดมาวางให้ แต่วันนี้ชั้นดาดฟ้าเปิดประตูให้เดินขึ้นไปได้ ชั้นบนมีคนงานกำลังซ่อมแซมปรับปรุงสถานที่อยู่เต็มไปหมด มีบันไดพาดวางอยู่ทั่วไป ปีนป่ายกันตามสะดวก มองหามุมจนเจอ เห็นพระราชวังโปตะลาลอยเด่นอยู่ยอดเขาไม่ไกลนัก ชักภาพกันจนพอใจ ก็กลับลงไปเดินเล่นบนถนนบาร์คอร์ นักท่องเที่ยวเดินปะปนรวมกันไปกับชาวธิเบตที่เดินสวดมนต์หมุนกงล้อ นักแสวงบุญบางคนไม่เดินธรรมดาแต่เดิน 1 ก้าวก้มกราบอัษฎางคประดิษฐ์ 1 ที ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ตามถนนที่ล้อมรอบวัดโจคัง มันช่างหลากหลายอารมณ์เหลือเกิน

Day 4 : Lhasa – Gyantse - Shigatse

วันนี้เราลาเมืองลาซาเพื่อนั่งรถต่อไปเมืองชีกัตเซ่ (ชาวธิเบตออกเสียง ชิกาซึ นะ อ่านชิกัตเซเขาไม่รู้จักหรอก) ต้องนั่งรถกันแทบทั้งวัน แต่คงได้แวะเที่ยวกลางทางแก้เบื่อ ทางที่ไปจะเป็นทางขึ้นเขาคดเคี้ยว เพราะจะไปแวะดู ทะเลสาปยามดร็อก (Yamdrok Tso) ทะเลสาปสีเทอร์คอยต์ และจะผ่านจุดสูงสุดประมาณห้าพันกว่าเมตรจากระดับน้ำทะเลด้วย ใครเมารถก็ควรกินยาเลย อ็อกซิเจนเตรียมให้พร้อมอาจน็อคเอาได้ง่ายๆ

รถวิ่งย้อนกลับไปทางสนามบิน นั่งกินลมชมวิวไปตั้งนานเพิ่งจะถึงทางแยก ซ้ายมือกลับไปสนามบินพวกเราแยกขวาไปชิกัตเซ่ จากถนนทางราบ เริ่มเป็นทางขึ้นเขา และเริ่มคดเคี้ยวขึ้นเรื่อยๆ วิวก็อยากดูมึนก็มึน บางคนก็เริ่มออกอาการโอ้กอ้าก ช่วงนี้หากธรรมชาติเรียกร้อง เราต้องพึ่งสุขาธรรมชาติกันแล้ว อาเผิงคอยมองหามุมเหมาะๆให้สาวๆลงไปทำธุระกันทุกๆชั่วโมง เป็นสุขาที่วิวสวยลมเย็นดีจริงๆ

นั่งมองวิวรอบด้าน มีแต่ภูเขาสูง แห้ง เหลือง เริ่มมองเห็นจามรียืนตามเชิงเขาบ้างแล้ว มีหมู่บ้านเล็กๆโผล่มาเป็นช่วงๆ รถก็มีวิ่งไม่มากนัก นานๆจะมีสวนไปสักวัน ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่ามีแต่เขากับเขาสลับซับซ้อนไปรอบด้าน ในที่สุดก็มาถึงจุดชมวิวที่ Kambala Pass เขาว่ากันว่าสูงร่วมๆ 5000 ม.จากน้ำทะเล การลงมาเดินเล่นถ่ายรูปจึงต้องใช้วิธีย่องๆเพื่อความปลอดภัยของปอดและหัวใจ ลงจากรถมายืนหันซ้ายหันขวา โฮ่...บรรยากาศขมุกขมัวสิ้นดี ฟ้าใสๆระหว่างทางหายไปไหนล่ะเนี่ย ย่องๆๆไปส่องกล้องที่ทะเลสาปด้านล่างได้แค่ 2 แชะ หิมะตกซะงั้น ลมงี้พัดวูบๆๆ หนาวจับจิต รีบย่องกลับรถกันแทบไม่ทัน มองไปรอบๆอีกทีไม่เห็นอะไรซะแล้วขาวโพลนไปหมด ตั้งหลักบนรถกันได้สักพักก็ลงไปกันอีกรอบ ฮ่าๆๆๆ.....ชักภาพกันเป็นที่ระลึกแล้วก็ต้องเผ่นเพราะหนาวสิ้นดี

นั่งรถชมวิวกันไปอีกพักเดียว ฟ้ากลับใสซะงั้น จุดต่อไปได้ใจทั้งคันรถ เพราะอาเผิงให้รถจอดข้างทางชื่นชมทะเลสาปสีเทอร์คอยต์กันแบบใกล้ชิด ทะเสลาปก็ฟ้า ท้องฟ้าก็ฟ้า ทิวเขาสีเทาๆสลับกับยอดเขาหิมะ สมาชิกกรี๊ดแตกลงจากรถวิ่งถ่ายรูปมุมซ้ายมุมขวามุมหน้ามุมหลัง พอเผลอๆก็หาก้อนหินหลบมุมทำธุระกัน เป็นสุขาที่วิวสวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเลยนะ

ผ่านมาถึงอีกจุดหนึ่ง Kharola Glacier ป้ายบอกความสูงที่ 5,020 ม. รถจอดให้ลงไปชมธารน้ำแข็งข้างทาง รอบๆบริเวณนี้ยังมีธารน้ำแข็งอยู่เป็นหย่อมๆ ยอดเขารอบด้านขาวด้วยหิมะ เราก็ย่องๆๆเช่นเคยไปถ่ายภาพตรงเจดีย์และราวธงมนต์ ไม่กี่นาทีคนขับรถก็บีบแตรเรียก อยากตะโกนบอกว่า ถ้าวิ่งไหววิ่งไปแล้วโว๊ยยยย...แต่แรงอ้าปากตะโกนยังมีไม่พอเลย เลยก้มหน้าย่องต่อไป....

ชักภาพกันจนหนำใจเพิ่งคิดได้ว่าหิวข้าว นั่งท้องร้องไปจนถึงเมืองนางคาเซ่ (Nangkartse) เงียบเหมือนเมืองร้าง อาหารพอใช้ได้ แต่ห้องน้ำสะอาดจนน่าแปลกใจ อิ่มแล้วก็นั่งรถต่อไปเข้าเขตเมืองเจียนเซ่ (Gyantse) แวะเที่ยววัดเพลกอร์ (Pelkor Chode Monastery) วัดเงียบๆกลางเมือง แต่น่าสนใจเพราะมีกำแพงเมืองเก่าตามยอดเขาเป็นแนวยาวอยู่ฉากหลัง มองดูคล้ายกำแพงเมืองจีนเลย แนวกำแพงสีน้ำตาลแดงตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าเข้มสวยอย่าบอกใคร ( Gyantse Fortress, แนวป้อมกำแพงเก่านี้ สามารถเดินขึ้นไปเที่ยวได้ ถ้ามีเวลาและพละกำลัง จะมองเห็นเมืองเจียนเซ่ในมุมสูง) เดินเข้าไปด้านในวัดมีเจดีย์องค์โต มองขึ้นไปด้านบนมีดวงตาเห็นธรรมแบบเจดีย์ในเนปาลอยู่ด้วย ชื่อว่าเจดีย์คุมบุม (Kumbum) เข้าด้านในอาคารเพื่อนมัสการพระพุทธรูปองค์โตเสร็จแล้วก็ต้องรีบเดินทางต่อเพราะยังเหลืออีกหลายสิบกิโลเมตรอยู่กว่าจะถึงชิกัตเซ่

นั่งชมวิวบ้างหลับบ้างตื่นบ้างไปจนเย็นก็เข้าเขตเมืองชิกัตเซ่ อาเผิงกับตาแว่นพาแวะวัดตอนเย็นอีกแล้ว เลยโวยไปหน่อยว่าในรายการบอกว่าเที่ยวพรุ่งนี้เช้านี่ ทำไมมาอัดเอาวันนี้ แต่ละคนบนรถสภาพเหมือนผ่านศึกสงคราม ทั้งเหนื่อย เวียนหัว ขาดอ็อกซิเจน หลายคนจึงขอนั่งรอบนรถ อาเผิงบอกใจเย็นๆเชื่อพี่แว่นซิ พี่แว่นบอกว่าต้องเที่ยววันนี้เที่ยวพรุ่งนี้ไม่ทัน อ้าว...แล้วเขียนโปรแกรมมาได้ไง มั่วได้อีก เซ็งมาก....แต่พวกเราก็ลงไปเดินเที่ยวเพราะยังไหวอยู่สงสารคนที่ไม่ไหวเลยอดไปเลย สรุปแล้วเหลือหน่วยกล้าตายแค่ 5 คนลงไปเดินเที่ยววัดตาชิหลุนโป (Ta shi lhun po Monastery) วัดใหญ่ของชิกัตเซ่ เป็นที่พำนักของปันเชนลามะ (ตำแหน่งสำคัญรองลงมาจากดาไลลามะ ผิดกับดาไลลามะที่ท่านไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย) วัดนี้ถือเป็นไฮไลต์ของเราเลยก็ว่าได้ เพราะมองดูภายนอกแล้วก็สมกับชื่อเล่นที่เรียกว่าโปตะลาน้อย แถมเดินเข้าด้านในก็ได้พบพระ พบลามะมากมาย เป็นวัดที่มีชีวิต ไม่เหมือนที่โปตะลาเหมือนเข้าไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากกว่า แต่ที่นี่เราได้เห็นการทำกิจของสงฆ์ต่างๆ ได้เห็นได้ฟังลามะทำวัตรเย็น เสียงสวดดังกึกก้องกังวาน เณรน้อยบางรูปยังกวาดลานวัด บ้างก็ซ่อมแซมบันได ขัดพื้น ได้เห็นลามะหมวกเหลืองก็ที่วัดนี้แหละ

เข้าถึงโรงแรมที่พัก มีคนสภาพแย่ไปหลายคน ทั้งแพ้อากาศ เมารถ และเป็นไข้ โชคดีว่าเรายังฟิต เหลือคนสบายๆอยู่แค่ 4-5 คน หลังอาหารเย็นเลยพากันไปเดินเล่นซุปเปอร์มาเก็ตข้างๆโรงแรม เลือกซื้อของสนุกสนาน คิดๆว่าจะซื้อเนื้อจามรีอบแห้งมาฝากเพื่อนก็กลัวเพื่อนไม่กิน เลยซื้อเบียร์ยี่ห้อลาซามาแทน

Day 5 : Shigatse - Lhasa – Chengdu

วันนี้เราต้องตีรถกลับเมืองลาซา โดยจะแยกเข้าสนามบินไปเลย อาเผิงบอกว่าวันนี้เราจะไม่ขึ้นเขาแล้ว มีทางธรรมดาวิ่งตรงไปลาซาได้เลย เมื่อวานที่เราต้องไปทางเขาคดเคี้ยวเพราะจะแวะเที่ยวตามจุดต่างๆ วันนี้เป็นทางราบแล้วสบายๆ มีการเปลี่ยนโปรแกรมนิดหน่อยจากที่จะกลับไปนอนลาซาแล้วบินกลับพรุ่งนี้เช้า เปลี่ยนเป็นวันนี้เราจะบินกลับไปนอนที่เฉินตูเลย

หลังอาหารเช้ารถพาวิ่งผ่าเมืองทิ้งชิกัตเซ่ที่ดูเหงาๆไว้ข้างหลัง ทางที่กลับลาซาวันนี้จะเลาะเลียบแม่น้ำพรหมบุตร (Brahamaputra หรือ Yarlung River) ไปเรื่อย ทิวเขาสองข้างทางและสายน้ำทำให้กล้องต้องถูกยกขึ้นมากดชัตเตอร์อยู่ตลอดเวลา บางช่วงน้ำก็แห้งขอด บางช่วงก็พอมีน้ำให้เห็นกระแสไหลเชี่ยวอยู่ แทบไม่เห็นทุ่งข้าวหรือพืชผลอะไรเลย น่าสงสัยว่าชาวบ้านเขากินอะไรกันนะ ท่าทางจะปลูกอะไรไม่ได้เลยด้วยว่าอากาศแล้งและหนาวอย่างมาก

จากที่สงสัยว่าวันนี้จะวิ่งถนนไฮเวย์ ไม่น่าจะใช้เวลามาก ทำไมถึงเอาวัดตาชิหลุนโปไปยัดเที่ยวเมื่อวานเย็น ก็หายสงสัย เพราะมันมีด่านตรวจนี่เอง แต่ละด่านเขาจะจำกัดเวลาในการวิ่งเพื่อไม่ให้รถวิ่งเร็วเกินไป แต่ก็คงเหมือนเมืองไทย รถทัวร์ก็วิ่งห้อตะบึงแล้วไปจอดรอเวลาเอา นี่ก็เหมือนกันวิ่งห้อตะบึงแล้วก็ไปจอดให้พวกเราถ่ายรูปเล่นกันตามข้างทาง เสียดายว่าวิวไม่ได้สวยมากมายเหมือนเมื่อวาน แต่ก็ได้แวะหลายจุดตามโค้งแม่น้ำเพื่อถ่ายรูปกัน

กว่าจะถึงร้านอาหารกลางวันก็เกือบบ่ายโมงเหมือนกัน จัดการอาหารกลางวันกันแบบหน้าตาเบื่อๆ อาเผิงเลยปลอบใจว่าเดี๋ยวกลับเฉินตูแล้วอาหารอร่อยแน่ๆ จากร้านอาหารไปอีกไม่นานก็ถึงสนามบินแล้ว ขนกระเป๋าลงยังไม่ทันเสร็จพายุทรายก็เข้าถล่ม จะเรียกพายุทรายหรือเปล่าไม่รู้ แต่เป็นพายุหมุนพัดทรายปลิวว่อนเข้าหูเข้าตา ต้องรีบวิ่งเข้าอาคารกันใหญ่ ตรวจเช็คตั๋วเรียบร้อย จากรอเวลาขึ้นเครื่องอีกประมาณชม.ครึ่ง กลายเป็น 2 ชม.กว่าเพราะเครื่องดีเลย์ เลยเดินซื้อของที่ระลึกธิเบตกันเพราะไม่มีเวลาเดินซื้อของกระจุกกระจิกเท่าไหร่เลย ได้เดินที่ถ.บาร์กอร์แค่ไม่นาน แถบนั้นก็มีแต่กงล้อมนต์ขายซะมาก ไม่มีพวกตุ๊กตา แมกเน็ต อะไรพวกนี้เลย มาได้เอาที่สนามบินนี่แหละ แปลกดีนะต่อราคาได้ด้วย พวกเรารวมกันซื้อหลายๆชิ้นแล้วก็ต่อราคาได้ตั้งเยอะ...

กลับเข้าสู่ความเจริญแห่งเมืองเฉินตู เกิดเหตุฉุกหุกนิดหน่อยที่รถไม่มารับ อาเผิงโทรศัพท์มือเป็นระวิง พวกเราก็รอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ ฝนก็ตกพรำๆ เจอมันทุกฤดูในวันเดียว กว่าจะได้ขึ้นรถก็นานโข อาเผิงทำหน้าเศร้า แต่พวกเราให้อภัยในที่สุดเพราะวันนี้อาเผิงพาไปกินสุกี้เห็ด อย่างน้อยก็ไม่ใช่อาหารจีนผักผัดน้ำมันเยิ้มๆ สุกี้เห็ดที่นี่ไม่ยักเหมือนที่เคยกินที่จงเตี้ยน และไม่เหมือนที่พี่หนุ่ยเคยกินที่เซี่ยงไฮ้ แต่ก็รดชาดใช้ได้ ยิ่งได้กินซุปร้อนๆ เห็ดเยอะๆผักเยอะๆ เลยกินกันพุงกาง และให้อภัยอาเผิงในที่สุด

Day 6 : Panda day ~ Chengdu – BKK

ช้าวันนี้เป็นวันที่หลายๆคนรอคอย (แต่ไม่ใช่เราอ่ะ ไม่พิศวาสหมีแพนด้าเท่าไหร่) หลังอาหารรถก็พาฝ่าการจราจรแน่นขนัดออกไปนอกเมืองเพื่อไปศูนย์วิจัยและเพาะพันธ์หมีแพนด้า (Chengdu Panda Breeding & Rechearch Center) อาเผิงบอกว่าที่เฉินตูมีสถานที่ดูหมีแพนด้าได้ 3 ที่ คือที่ๆเราจะไปมีหมีแพนด้าประมาณ 30 ชีวิต อีกที่คือที่สวนสัตว์จะมีน้อยหน่อย ส่วนอีกที่ก็มีเยอะแต่อยู่ไกล เราไปอันนี้คงกำลังดี ฝ่ารถติดมาพักใหญ่ก็เลี้ยวขวาเข้า Panda Ave. วันนี้อากาศขมุกขมัวฝนตกพรำๆ พอลงจากรถก็สั่นกันดิกๆพราะหนาวกว่าที่คาดเยอะ เสื้อหนาวหนาๆก็แพ็คลงกระเป๋ากันหมดแล้ว ก็เดี๋ยวกลับเมืองไทยเจออุณหภูมิ 40 องศาแล้วนี่นา วันนี้เลยต้องเดินสั่นกันงั่กๆเข้าไป

ภายในศูนย์วิจัยร่มรื่น มีรถรางไว้บริการคนละ 10 หยวน แต่ไม่ได้กินเงินเราหรอก พวกเราเดินเล่นกันไปเรื่อยๆเหมือนมีเวลาเยอะ (แต่จริงๆจะกลับบ่ายนี้แล้ว แถมอยากไปซื้อบัวหิมะกันอีก) เดินไปสั่นไป สักพักก็ได้เจอหมีแพนด้าสมใจ จากคอกโน้นออกคอกนี้ เป็นคอกกลางแจ้งที่น้องหมีเดินวิ่งปีนต้นไม้โชว์เป็นที่สนุกสนาน รู้สึกดีกว่าที่ต้องไปต่อแถวดูหมี 2 ตัวในตู้กระจก หากใครอยากสัมผัสใกล้ชิดโดยการอุ้มกอดรัดฟัดเหวี่ยงคุณต้องยอมควัก 1000 หยวน คิดไตร่ตรองดูประมาณ 30 วินาที แจงก็บอกว่าแจงจะอุ้มหมี!!! สมาชิกไปให้กำลังใจกันเนื่องแน่น แจงคว้ากล้องหายเข้าไปในห้องแลปพักใหญ่ก็กรี๊ดกร๊าดกลับออกมาบอกว่าน้องหมีนิ่มมาก ไม่เหม็นด้วย เอารูปมาดูกัน เออ...มันก็น่ารักจริงๆนะ แต่พันหยวนขอดูรูปเอาดีกว่า.....

ออกจากศูนย์วิจัยหมีแพนด้า อาเผิงก็พาไปร้านบัวหิมะ มีนวดเท้ากดจุด อะไรต่อมีอะไรเกี่ยวกับยาจีน พี่ๆแต่ละคนก็สนใจกันไปคนละอย่าง พี่อิสปรึกษาซินแสเรื่องมือแขนชาบ่อยๆ หมอแนะนำยาชุดเล็กๆกิน 3 เดือน แค่ 1800 หยวน - -“ ลังเลอยู่พักใหญ่ ได้เสียงเชียร์จากสมาชิก และข้อคิดที่ว่า แจงมันเสียไปตั้งพันหยวนได้แค่กอดหมีนี่เสียพันแปดได้ยาไปกินตั้ง 3 เดือน เพื่อสุขภาพๆๆๆ ในที่สุดพี่แกก็หิ้วถุงยาออกมาด้วยตัวเบาหวิว เพื่อสุขภาพนะพี่อย่าคิดมาก!!!!

มื้อสุดท้ายในเฉินตูและในเมืองจีน ยังเป็นร้านอาหารจีนแบบทัวร์ลงเช่นเดิม แต่วันนี้อาหารอร่อย มีเหล้าให้จิบเฉลิมฉลองกันด้วย มื้อนี้มีปลา มีไก่ มีกุ้ง มีกบ กินกันพุงกางเช่นเคย อาหารมื้อสุดท้ายในจีนประทับใจดี อาเผิงกล่าวขอบคุณพร้อมร่ำลากันที่สนามบินพวกเราก็บินกลับเมืองไทย อาเผิงก็บินกลับคุนหมิง (ฮีเป็นไกด์กิติมศักดิ์ที่เลิกนำทัวร์มานานแล้ว แต่ช่วงสงกรานต์ไกด์พูดไทยได้เป็นที่ต้องการอย่างมาก เลยโดนตามตัวมาช่วยนำเข้ามาจากคุนหมิงทีเดียว)

เหมือนกลับถึงเมืองไทยตั้งแต่ก้าวเข้าประตูเครื่องบินแล้ว เจอแอร์โฮสเตสสวัสดีค่ะ เจอหนังสือพิมพ์ไทย ผู้โดยสารก็ส่งภาษาไทยกันทั้งลำ ขากลับเลยซัดไวน์ให้พอมึนๆอิ่มแล้วหลับสบาย ถึงสุวรรณภูมิแล้วถึงได้รู้ข่าวจากที่บ้านว่าเมื่อเช้าเกิดแผ่นดินไหวที่ แคว้นชิงไห่ ชายแดนธิเบต-จีน คนตายเยอะแยะเลย ....โฮ่...... 
  

Travel tips

# ธิเบตไกด์ : http://www.tibettravel.info/regional-guide/index.html เขตการปกครองตนเองธิเบต สามารถเดินทางเข้าไปได้ 2 ทาง คือจากเมืองเฉินตูประเทศจีน หรือเดินทางจากประเทศเนปาล แต่ต้องทำเรื่องขอนุญาติเข้าธิเบต โดยเอเย่นต่างๆสามารถทำเรื่องขออนุญาติให้ได้

# การเดินทางโดยรถไฟจากเฉินตู เป็นวิธีที่น่าสนใจ และกำลังได้รับความนิยม เพราะสามารถปรับสภาพร่างกายไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆได้อย่างดี เดินทางจากสถานีรถไฟเฉินตูไปยังลาซาผ่านทางที่ราบชิงไห่ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม > http://tibet.cn/en/newfeature/qtrailway/index.htm

# โรคจากการป่วยในที่สูง (high-altitude sickness) เกิดจากภาวะอากาศจาง ทำให้เซลล์ขาด O2 ระบบต่างๆในร่างกายของผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการขาด O2 ในที่สูงได้ทัน จึงทำงานผันผวน

การดูแลตนเองใช้หลัก 3 อย่าง

1.พักให้อาการดีขึ้นก่อนจึงขึ้นต่อ

2.หากกินยาไม่ได้ผล ควรกลับลงไปยังที่ราบ

3.หากเริ่มมีอาการแรกของสมองบวมควรลงสู่ที่ราบ

การป้องกันและรักษา

*ไม่ควรขึ้นที่สูงเกิน 600 เมตรใน 24 ชั่วโมง

*ควรพักให้ร่างกายปรับตัวเสียก่อน หากมีอาการมากให้กลับลงสู่พื้นราบ

*รีบสูด O2 เมื่อเริ่มมีอาการ

*กินยาที่ป้องกันและลดอาการที่ได้ผลคือ Azetazolamide และ Dexamethasone

*กินยาแก้ปวดศีรษะ ที่ได้ผลคือ Aspirin และ Ibuprofen

*กินยาแก้อาเจียน

*ไม่ควรกินยานอนหลับที่กดการหายใจ

# อัตราแลกเปลี่ยนช่วงที่ไป (เมษายน 2553)

500 หยวน : 2500 บาท

No comments:

Post a Comment