Aug 8, 2012

เชียงตุง เมืองลา เมื่อหน้าฝน


Trip Aug. 2007 : KyaungTung 

KyangTung Photo Gallery : http://www.pbase.com/ton_manuswee/kyiang_tung_again

ยามหน้าฝนมาเยือน ทำให้นึกเห็นภาพท้องทุ่งนาเขียวขจีไปเสียทุกครั้ง.........เส้นทางสายเชียงตุง-เมืองลา หนึ่งในเส้นทางมีชื่อเรื่องทิวทัศน์สวยสดชื่นของท้องนาเขียวขจีในยามหน้าฝน ชาวบ้านที่มีอัธยาศัยดี และมีวิถีชีวิตเรียบง่าย
เชียงตุง เมืองสำคัญเมืองหนึ่งในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า อยู่ห่างจากชายแดนไทยด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ประมาณ 168 กม. ชาวเมืองเชียงตุงส่วนมากเป็นชาวไต หรือ ชาวไท เรียกว่าเป็นชุมชนชาวไตเลยทีเดียว มีชาวพม่าอาศัยอยู่บ้างแต่ก็นับว่ามีจำนวนน้อย มากที่สุดจะเป็นชาวไทขึนหรือไทเขิน นอกจากนั้นตามหมู่บ้านต่างๆรอบเมืองเชียงตุง ไปจนถึงเมืองยองเมืองลา มีทั้งชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยอง เชียงตุงเป็นเมืองเล็กในหุบเขา การเดินทางต้องนั่งรถข้ามเขาคดเคี้ยวคล้ายกับการเดินทางไปจ.แม่ฮ่องสอน แต่ลองประมาณดูแล้ว จำนวนโค้งไปจ.แม่ฮ่องสอนของเรายังเหนือกว่าอยู่หลายขุม ไม่อย่างนั้นเชียงตุงคงเปิดบริการแจกประกาศนียบัตรแข่งกับบ้านเราไปแล้ว  

ถนนหนทางในยุคที่พม่าเปิดประเทศและเริ่มสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้วนั้นได้รับการซ่อมแซมดีทีเดียว ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงกว่า ก็ไปถึงเชียงตุงได้สบายๆ รถตู้ที่เราเช่ามาจากแม่สายวิ่งไปตามถนนลาดยางที่ตัดขนานไปตามลำน้ำขึน ไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านชาวไตและชาวเขาหลายหมู่บ้าน ระหว่างทางจะต้องเจอกับด่านไปตลอด ทั้งด่านรัฐ ด่านราษฎร์ ด่านเอกชน ทั้งมีใบเสร็จและไม่มีใบเสร็จ ก็อย่างที่ทราบกันว่าประเทศพม่าประกอบด้วยหลายชนเผ่า ต่างก็มีกองกำลังและมีอำนาจในเขตพื้นที่ของตน การจะเดินทางผ่านก็ต้องเสียค่าผ่านทางกันหน่อย มาคราวนี้ตั้งอกตั้งใจนับจำนวนด่าน รวมแล้วมีถึง 12 ด่านทีเดียว รวมด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วย ซึ่งคนเดินทางทุกคนต้องเอาใบผ่านแดนไปประทับตราให้ครบ ไม่เว้นแม้แต่ชาวพม่าเอง แต่จุดพักรถจริงๆ สำหรับเข้าห้องน้ำหรือทานอาหารกลางวัน จะเป็นเมืองพยาก (PYAK) หรือบ้านท่าเดื่อ ซึ่งอยู่ประมาณกลางทาง แล้วแต่จะเลือกจอด แต่ขอกระซิบว่า จากที่ลองมาแล้วทั้ง 2 ที่ อาหารที่บ้านท่าเดื่อจะถูกปากมากกว่า พวกเราตั้งฉายาเมืองพยากซะใหม่ว่า เมืองกินยาก ก็อาหารมันกินยากจริงๆ คือยากที่จะให้รู้สึกถึงความอร่อย



เมืองลา อดีตแห่งแสงสี

เมืองลา เมืองในเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของพม่า เป็นเมืองชายแดนที่ติดกับเมืองต้าล่อ แคว้นสิบสองปันนา ของประเทศจีน รัฐบาลกลางพม่าอนุญาตให้จัดเป็นเขตปกครองพิเศษหนึ่งในสี่เขตของรัฐฉานจากการเจรจาระหว่างทางการพม่ากับกองกำลังติดอาวุธเมืองลา ผู้ปกครองเมืองลาเป็นคนเชื้อสายจีนซึ่งมีอำนาจบริหารเด็ดขาด นักลงทุนชาวจีนจึงมาลงทุนเปิดโรงแรม คาสิโน และสถานบันเทิงกันมากมาย  การเดินทางไปเมืองลา ต้องนั่งรถต่อจากเมืองเชียงตุงไปอีกราวชั่วโมงครึ่งกับระยะทางอีกกว่า 80 กม. ผ่านด่านอีก 3 ด่าน ซึ่งด่านสุดท้ายต้องจ่ายค่าเข้าเมืองลา 36 หยวนต่อคน!! ชาวเมืองดั้งเดิมของเมืองลาเป็นชาวไทลื้อ และชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ในตัวเมืองปัจจุบันเต็มไปด้วยชาวจีน พูดภาษาจีน ใช้เงินหยวน ชาวไทลื้อเองกลับไปอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านต่างๆรอบนอกเมือง หลายปีก่อนช่วงที่เมืองลารุ่งเรืองสุดขีด ทั้งเมืองเต็มไปด้วยโรงแรม ผับ บาร์ คาสิโน ร้านสินค้านำเข้าจากประเทศจีน คึกคักไปด้วยแสงสีและเงินหมุนเวียนมหาศาล วันนี้คาสิโนที่เมืองลาได้ปิดตัวลง ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวจีนโดยเฉพาะข้าราชการจีนเองข้ามด่านมาเล่นการพนันกันมากเกินไป ทางรัฐบาลจีนเกรงว่าชาวจีนจะถูกมอมเมาจนหมดตัวกันซะก่อน จึงกดดันให้คาสิโนปิดตัวลงพร้อมกับการปิดด่านจีน-พม่าไปซะเลย คิดแล้วก็น่าภูมิใจที่รัฐบาลจีนยังตะหนักในผลร้ายของการพนันที่มีต่อพลเมืองของตน ผิดกับอีกหลายๆประเทศที่ทำเป็นปิดตาข้างหนึ่งไม่รู้ไม่เห็นว่ามีบ่อนอยู่แถวชายแดนมากมายขนาดไหน!!!


เมืองลาในวันนี้ มองดูเงียบเหงา มีตึกเก่าทุดโทรมอยู่แถบทุกมุมถนน ส่วนมากเป็นโรงแรมและคาสิโนที่ปิดตัวลง ร้านค้าลักษณะเป็นตึกแถว ขายของนำเข้าจากจีนก็ยังมีเปิดอยู่หลายร้าน ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า, ขนมต่างๆ ร้านโทรศัพท์มือถือ ก็มีให้เห็นหลายร้าน โรงแรมที่เราพักเป็นโรงแรมสภาพปานกลางชื่อเฟรนด์ชิพ อยู่ไม่ไกลจากวัดจินตะ วัดนี้เหมือนเป็นสัญญลักษณ์ความเป็นพุทธที่ชัดเจนแห่งเดียวของเมืองลาก็ว่าได้ เราสามารถมองเห็นเจดีย์สีทองอร่ามของวัดจินตะได้ชัดเจนจากตัวเมือง เมื่อขึ้นไปบนวัดสามารถมองลงมาเห็นตัวเมืองลาได้อย่างชัดเจนเช่นกัน จุดเด่นของวัดจินตะนอกจากเจดีย์สีทองที่มีภาพพุทธประวัติอยู่บนผนังรอบเจดีย์แล้ว ด้านหน้าเจดีย์ยังมีรูปปั้นพระพุทธรูปยืนชี้นิ้วมายังตัวเมือง ลักษณะเหมือนกับพระชี้นิ้วที่วัดจอมสักเมืองเชียงตุง เรื่องพระชี้นิ้วนี้มีเรื่องเล่าถึงเหตุผลการสร้างต่างกันอยู่พอสมควร หากถามชาวพม่าจะได้คำตอบว่าพระชี้นิ้วไปที่เมืองใด เมืองนั้นจะเจริญรุ่งเรือง หากไปถามชาวไทหรือชาวไต ซึ่งเป็นชนชาติที่ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ก็จะได้คำตอบว่าพม่าสร้างพระชี้นิ้วมาเพื่อเป็นเคล็ดว่า จะชี้นิ้วสั่งให้ทุกชนเผ่าอยู่ใต้อำนาจการควบคุมได้ ก็ไม่รู้ว่าเหตุผลใดจะถูกต้อง


ร้านอาหารในเมืองลาเป็นลักษณะแบบร้านอาหารจีนทั่วไป ต่างกันตรงที่ ที่นี่ขายอาหารป่ากันอย่างเปิดเผย สัตว์ป่าตัวเป็นๆวางกรงกันที่หน้าร้านให้เลือกเลย มีทั้งตัวตุ่น เต่า ตุ๊กแก งู บางตัวหน้าตาคล้ายพี่ตะกวดบ้านเราก็มี เห็นแล้วรู้สึกขนลุก พวกเราสั่งกันแต่พวกหมูไก่ปลา รีบกินรีบไปกันดีกว่า หลังอาหารไปเดินชมตลาดกลางคืนกันหน่อย ที่ตลาดมีร้านอาหารขายแบบตลาดโต้รุ่งบ้านเราอยู่หลายร้าน ร้านขายผลไม้ก็มีเปิดอยู่ มีคาสิโนพื้นบ้านที่ยังเปิดอยู่ 1 แห่ง รอบๆตลาดเป็นตึกแถวมองเห็นเป็นร้านโคมเขียวโคมแดงทั้งสิ้น น้องๆนั่งออกันเต็มหน้าร้าน ได้เห็นการค้าอาหารป่ากันมาก่อนอาหาร หลังอาหารก็มาเห็นการค้าเนื้อสดเข้าอีก

ตลาดเช้าเมืองลาคือที่เดียวกับตลาดเมื่อคืนนั่นเอง อยู่บริเวณกลางเมือง มีขนาดกว้างขวางใหญ่โต ขายทั้งของสดของแห้ง พวกเราเริ่มต้นกันที่มื้อเช้าในบริเวณตลาด เป็นน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ติ่มซำ ซาลาเปา อาหารคุ้นเคยของคนไทย เฝอเวียดนามก็มีขาย ทั้งหมดซื้อขายกันด้วยเงินหยวน อิ่มกันครบถ้วน ก็ออกเดินชมตลาดผ่านบริเวณที่ขายอาหารสด เนื้อหมู เนื้อไก่ที่มีทั้งไก่ชำแหละแล้วและไก่เป็นๆ ปลาสดๆในบ่อก็มี เดินเลยออกไปอีก มีผักผลไม้หลายอย่างเหมือนบ้านเรา ผลไม้จากจีนเช่นลูกไหน ลูกพลับ แอ๊ปเปิ้ล ก็มีให้เห็น เดินเลยออกไปอีกฝั่งของตลาด ก็พบกับตลาดค้าสัตว์ป่าตัวเป็นๆกันอีกครั้ง ทั้งตัวตุ่น ตัวนิ่ม ตุ๊กแก แม้กระทั่งลิง!!! ทุกตัวอยู่ในกรง วางให้เลือกซื้อกันตามรสนิยม อุ้งตีนหมีก็มีวางขาย เศร้าใจกันอีกครั้ง ขอไปสงบจิตใจกันที่วัดดีกว่า วัดอีกวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปสักการะคือวัดพระนอน องค์ใหญ่ศิลปะแบบพม่า ตั้งอยู่ใกล้ๆตลาดเช้านั่นเอง และต้องรับเอกสารผ่านเมืองที่สำนักงานท่องเที่ยวข้างๆวัดด้วย

หลังจากนมัสการพระนอน จุดต่อไปที่พวกเราแวะไปชมคือ ด่านพรมแดนพม่า-จีน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเท่าไหร่นัก ที่บริเวณด่านมีการสร้างซุ้มประตูสวยงามใหญ่โต มีห้องแถวร้างอยู่ 5-6 ห้องคงจะเคยเป็นร้านขายของ แต่วันนี้เงียบเหงาไร้ผู้คน พวกเราเดินผ่านซุ้มเข้าไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับหลักเขตแดนพม่า-จีน นึกแล้วก็เสียดาย เพราะเส้นทางสาย ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลานี้ สามารถเดินทางต่อไปถึงเชียงรุ้งหรือสิบสองปันนาได้ด้วยระยะทางเพียงร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น จึงน่าจะเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ เชื่อมต่อ 3 เชียง คือ เชียงราย-เชียงตุง-เชียงรุ้ง ได้เป็นอย่างดี


ร่ำลาเมืองลาในช่วงก่อนเที่ยง เราจะไปนอนเชียงตุงกันคืนนี้ เมื่อรถเริ่มออกจากเขตเมืองลา รู้สึกเหมือนเดินทางกลับจากประเทศจีนเข้าพม่า ทั้งๆที่ก็ อยู่ในพม่านี่แหละ อาคารคอนกรีตหายไป เริ่มมองเห็นทุ่งนาเขียวขจีไปตลอดสองข้างทาง บางช่วงเป็นสวนยางพารา ซึ่งชาวจีนเป็นผู้มาบุกเบิกและลงทุนไว้ โตแล้วก็ส่งขายจีน ออกจากตัวเมืองมาไม่นานผ่านหมู่บ้านชาวไทลื้อ ชาวบ้านและเด็กๆโบกมือยิ้มแย้มให้เรา จนเราอดที่จะแวะลงไปพูดคุยและเยี่ยมชมบ้านของชาวไทลื้อไม่ได้ สาวไทลื้อใส่เสื้อเข้ารูปคอกลมผ่าอกหรือผ่าข้างสีสันสดใส นุ่งซิ่นลายดอกยาวกรอมเท้า ในขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงสวมเสื้อสีพื้นๆตามวัฒนธรรมดั้งเดิม บ้านชาวไทลื้อเป็นลักษณะบ้านไม้ยกสูง หลังคาลาดต่ำมีจั่วสูง มีหลังคาซ้อนมุงชายคารอบๆอีกชั้นหนึ่งจนแทบมองไม่เห็นฝาบ้าน เสาบ้านวางบนก้อน หลังคามุงด้วยดินขอ (ดินเผา) ซ้อนเป็นชั้นๆ ปลูกติดๆกันไป วัดก็มีลักษณะหลังคาซ้อนกันหลายชั้นเช่นกัน ในช่วงวันพระใหญ่เช่นวันเข้าพรรษา พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยชาวไทลื้อต่างไปปูเสื่อนั่งถือศีลกันในโบสถ์เต็มไปหมด เมื่อพวกเราเข้าไปเพื่อกราบนมัสการองค์พระประธาน พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยต้อนรับขับสู้พวกเราอย่างดี นำน้ำดื่ม ขนมต่างๆเช่น ขนมฟักทอง ขนมต้ม มาแจกจ่ายพวกเราถ้วนหน้า ชาวไทลื้อพูดภาษาคล้ายภาษาไทยเหนือของเรา จึงพูดคุยกันได้รู้เรื่อง  ก่อนลาจาก แม่อุ๊ยยังย้ำเตือนให้พวกเราแวะมาเที่ยวอีก เพราะเมืองไทยและเมืองลาอยู่ใกล้กันแค่นี้เอง

ผ่านหมู่บ้านชาวไทลื้อมาอีกนิดเดียว มองเห็นตึกสีขาวสร้างอยู่ติดๆกันเป็นหมู่ สอบถามได้ความว่า เป็นเมืองม้า คาสิโนย้ายจากเมืองลามาสร้างใหม่ที่เมืองม้านี่เอง ยังพอมีนักท่องเที่ยวที่ข้ามแดนจากไทยทางแม่สาย อุตส่าห์นั่งรถข้ามเขามาร่วม 4-5 ชม.เพื่อมาเล่นการพนันกันที่นี่ แต่ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน พวกเราไม่สนใจที่จะแวะเข้าเยี่ยมชมคาสิโนเมืองม้ากัน ด้วยว่าไม่นิยมเสี่ยงดวง เราจึงมุ่งหน้าต่อไปเชียงตุงกัน ระหว่างทางมองเห็นนาขั้นบันไดสีเขียวสดสลับไปกับสวนยางตลอดทาง


เชียงตุง เมืองสามจอม เจ็ดเชียง เก้าหนอง สิบสองประตู

หลับๆตื่นๆกันมาเกือบ 2 ชม. สองข้างทางเริ่มเปลี่ยนเป็นท้องทุ่งนา ไม่มีแบบขั้นบันไดแล้ว แสดงว่าใกล้ถึงเมืองเชียงตุงแล้ว การมาเที่ยวเมืองเชียงตุงก็คงหนีไม่พ้นเข้าวัด เพราะมองไปทางไหนก็จะพบแต่วัด สมกับอีกฉายาหนึ่งว่า เชียงตุงเมืองร้อยวัด หากไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน ก็ให้เริ่มจากวงเวียนวัดพระเจ้าหลวง หรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี เป็นวัดหลวงที่ชาวเชียงตุงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก  วัดพระเจ้าหลวงนี้สร้างโดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ผู้ปกครองเชียงตุงองค์สุดท้าย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หล่อด้วยโลหะผสมทองคำ มีพระพักต์งดงาม ลักษณะคล้ายคลึงกับพระมหามุนีที่เมืองมัณฑะเลย์ ฝั่งตรงข้ามวัดพระเจ้าหลวงด้านทิศตะวันตก คือวัดพระแก้ว ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระพุทธรูปศิลปะไทเขินหลายองค์ ซึ่งจะเปิดให้เข้านมัสการเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา ถัดจากวัดพระแก้วไปอีกฝั่งถนนคือวัดหัวข่วง เป็นพระอารามหลวง มีซุ้มประตูซ้อนกันเป็นชั้นๆตามแบบศิลปะไทเขิน ภายในวัดเป็นสถานที่เรียนหนังสือของเณร เดินเข้าไปจะเห็นเณรน้อยยิ้มอายๆหลบตามบานประตูหน้าต่างอยู่เสมอ

หากออกจากวัดพระแก้วแล้วเลี้ยวไปทางซ้ายประมาณไม่เกินร้อยเมตร จะเห็นทางเข้าโรงแรมนิวเชียงตุง โรงแรมที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมดีที่สุดของเมืองเชียงตุง แต่กลับเป็นสถานที่ๆเต็มไปทรงจำที่ขมขื่นของชาวเชียงตุง ด้วยเหตุว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ๆ เจ้าก้อนแก้วอินแถลงได้เคยสร้างหอเจ้าฟ้าขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระมเหสี อาคารเป็นสถาปัตยกรรมผสมแบบอังกฤษผสมอินเดียและไทเขิน เพราะเป็นช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ภายหลังเมื่อรัฐบาลทหารของพม่าเข้ายึดอำนาจคืนได้ทั้งหมด จึงทำการล้มเลิกระบอบเจ้าฟ้าในเชียงตุง ได้สั่งให้ทุบทำลายหอเจ้าฟ้าลง ทั้งยังให้นำเอาเศษซากอิฐซากปูนเหล่านั้นไปถมประตูทางเข้าเมือง เพื่อให้คนเหยียบย่ำอีกด้วย

เดินเลยผ่านโรงแรมนิวเชียงตุงไปอีกไม่ไกล จะพบกับตำหนักของเจ้าบุญวาทย์ ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งถูกทิ้งร้างเนื่องจากต้องหนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ  ฝั่งตรงข้ามกับตำหนักมีทางแยกเดินขึ้นเนินไปวัดพระธาตุจอมคำ มีองค์พระธาตุที่ทำด้วยทองคำสูงถึง 226 ฟุต บนยอดประดับด้วยเพชรพลอย ด้านข้างพระธาตุมีระเบียงมองออกไปเห็นเมืองเชียงตุงและพระชี้นิ้วแห่งวัดจอมสักอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน แค่เพียงละแวกนี้ก็ชมวัดไปถึง 4 วัดแล้ว วัดอื่นๆที่น่าสนใจ คงต้องเรียกรถรับจ้างพาไป ซึ่งมีทั้งมอเตอร์ไซต์รับจ้างและรถสามล้อเครื่อง เรียกเหมาให้พาไปได้ทั่วทุกวัด วัดที่น่าไปแวะชมอีก ก็เช่นวัดยางโกง ที่ภายในประดิษฐานพระเกล็ดนาค ที่มีพระพักต์งดงาม ทรงเครื่องสวยงาม วัดหนองเงิน อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง และมีพระนอนฝีมือช่างชาวไทใหญ่ วัดจอมมนอยู่บนเนินเขาด้านทิศตะวันออกของเมือง ภายในอุโบสถมีพระประธานสวยงาม และยังมีพระบัวเข็มจำลอง ที่มีลักษณะกลมมนเพราะการปิดทอง เป็นองค์จำลองทำเหมือนที่วัดโผ่วด่ออูที่อินเลแต่องค์เล็กกว่า ใกล้ๆกับวัดจอมมนมีจุดน่าสนใจอีกแห่ง คือ ต้นยางใหญ่ เป็นต้นยางขนาด 9 คนโอบ มีอายุร่วม 270 ปี เชื่อกันว่าปลูกโดยเจ้าอ้าย ราชบุตรของเจ้าฟ้ากองไต เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 38 ถือว่าเป็นไม้หมายเมืองด้วย คือเป็นต้นไม้สัญญลักษณ์ของเมือง ศูนย์กลางเมือง รอบๆบริเวณต้นยางใหญ่ เป็นสวนร่มรื่น ที่ริมเขาเป็นจุดชมวิวเมืองเชียงตุงได้ดี



ไม่ไกลจากวัดจอมมน มีวัดที่เสมือนเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองเชียงตุงอีกวัด คือวัดจอมสัก ใครไปใครมาก็จะต้องหาโอกาสขึ้นมานมัสการ และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเพื่อยืนยันว่ามาถึงเมืองเชียงตุงแล้ว ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปยืนชี้นิ้ว คล้ายกับที่เมืองลา แต่พระชี้นิ้วเมืองเชียงตุงมีความสวยงามมากกว่า พระพักต์แบบศิลปะพม่าสวยได้รูป ครองจีวรเป็นริ้วละเอียด สัดส่วนได้ขนาดต่างกับองค์ที่เมืองลาที่สัดส่วนออกจะผิดขนาดไปหน่อย พระชี้นิ้วเชียงตุงนี้ ก็ยืนชี้นิ้วลงไปยังเมืองเชียงตุง เหตุผลก็คงถกเถียงกันเหมือนที่เมืองลานั่นแหละ


เดินทางลงจากวัดจอมสักตอนบ่ายแก่ๆ พวกเราก็มาชมบรรยากาศยามเย็นของหนองตุง หนองน้ำกลางเมืองเชียงตุง ตำนานเรื่องหนองตุงนี้น่าอัศจรรย์ดี  ตุงคฤษีมาเห็นว่าเมืองเชียงตุงนั้นน้ำท่วมจนชาวบ้านอยู่กันไม่ได้ต้องหนีขึ้นดอย จึงใช้ไม้เท้าขีดพื้นดินให้กลายเป็นร่องน้ำ ให้น้ำไหลออก ครั้งแรกขีดลงทิศใต้น้ำไม่ยักไหล ครั้งที่สองเลยขีดขึ้นทิศเหนือน้ำจึงไหลออก เส้นทางที่น้ำไหลออกนั้นจึงมีชื่อว่าแม่น้ำขึน คือ ขืนหรือฝืนธรรมชาตินั่นเอง น้ำไหลออกไปจนเหลือเพียงหนองน้ำ จึงมีชื่อว่าหนองตุง และมีชื่อว่าเมืองเชียงตุง รอบๆหนองตุง ทำเป็นทางเดินได้รอบ บรรยากาศยามเย็นสวยงามน่านั่งพักผ่อน มองขึ้นไปบนเนินเขาด้านหนึ่งมองเห็นพระชี้นิ้ววัดจอมสัก อีกด้านหนึ่งก็เห็นองค์พระธาตุจอมคำ เห็นเป็นภาพสะท้อนในหนองตุงได้ยามน้ำนิ่งสงบ เลือกทำเลเหมาะที่ร้านน้ำชาร้านหนึ่ง นั่งเก้าอี้กับโต๊ะเตี้ยๆ ล้อมวงกันสั่งของทอดต่างๆมากินแกล้มกับน้ำชา มีทั้งซาโมซ่า กุ้งทอด ถั่วทอด ผักทอดกรอบต่างๆ นึกครึ้มสั่งเมียนม่าร์เบียร์มาจิบระหว่างชมหนองตุงค่อยๆหมดแสงก็มีความสุขไปอีกแบบ


เช้าวันสุดท้ายในเชียงตุง พลาดไม่ได้ที่จะไปเดินชมตลาดเช้า หรือ กาดหลวงเชียงตุงเป็นกาดใหญ่กลางเมือง ผู้คนที่มาตลาดมีทั้งชาวเมืองเชียงตุงและชาวบ้านจากหมู่บ้านรอบนอก รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆก็นำของมาขายด้วย ที่กาดมีของขายทุกชนิด ตั้งแต่ของสด ผัก ผลไม้ อาหารแห้ง ไปจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป แม้กระทั่งทอง ก็ขายกันอยู่กลางตลาด ด้านริมตลาด แบ่งเป็นร้านขายอาหารยาวไปตลอดแนว มีทั้งโมฮิงก่า (ก๋วยเตี๋ยวแบบพม่า) ก๋วยเตี๋ยวแบบจีน เฝอเวียดนาม ข้าวฟื้นของชาวไทใหญ่  ด้านหน้าตลาดมีร้านขายกาแฟกับปาท่องโก๋ตัวยาวๆ ชาวเชียงตุงมักมานั่งจิบกาแฟกันตั้งแต่เช้าจนสายๆ เวลาช่วงเช้าที่เหลือเราออกเดินสำรวจเมืองเชียงตุงกันไปเรื่อยๆ จากกาดหลวงเดินไปตามถนน มีตึกแถวชั้นเดียวเป็นร้านค้าเบ็ดเตล็ด ร้านตัดเสื้อผ้า ร้านตัดผม มีร้านขายสลากกินแบ่งมีอยู่  4 - 5 ร้าน รัฐบาลเป็นเจ้าของ ไม่มีการขายเกินราคา ไม่มีการเดินเร่ขาย มาซื้อได้ที่ร้านเท่านั้น หากใครมีเวลาอีกสักวัน ก็สามารถออกไปเที่ยวชมนอกเมืองได้ เช่นเที่ยวน้ำตก หรือไปเที่ยวดอยเหมย ซึ่งต้องออกนอกเมืองขึ้นเขาไปอีกประมาณ 30 กม. ทางยังไม่ค่อยดีนัก ควรไปเที่ยวชมในหน้าแล้ง จะได้ชมดอกซากุระบานสวยงามไปตลอดทางจนถึงด้านบน ดอยเหมยเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของทหารอังกฤษยามที่มาปกครองเชียงตุง มีอากาศเย็นสบายตลอดปีเพราะอยู่บนเขาสูง มีการสร้างบ้านพักตากอากาศไว้หลายหลัง ปัจจุบันทรุดโทรมไปหมดแล้ว นอกจากนั้นก็มีโบสถ์ มีสถานเลี้ยงเด็กที่รับบริจาคเงินและของ มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ หากจะขึ้นไปเที่ยวชมควรใช้รถกำลังดีๆ


ในตัวเมืองเชียงตุงยังมีสถานที่ๆควรไปเยี่ยมชมอยู่อีก เช่น สถูปเจ้าฟ้า เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง และเจ้าฟ้าเชียงตุงอีกหลายพระองค์ สถูปเจ้าฟ้านั้นอยู่ไม่ไกลจากประตูป่าแดง ประตูเมืองหนึ่งเดียวจาก 12 แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของเชียงตุง หรือนั่งรถออกไปตามหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมเยียนชาวไทเขิน หรือหากยังสนใจวัดของเชียงตุง ก็ยังมีให้ไปชมได้อีกมากมาย เช่น วัดเมืองดีเพียงใจ วัดป่าแดง วัดเชียงยืน วัดจอมแจ้ง วัดพระเจ้าเสือ วัดพระธาตุจอมดอย เป็นต้น ที่กล่าวมาล้วนเป็นวัดที่มีความสวยงามและได้รับความเคารพนับถือ จากชาวเมืองเชียงตุง
เมืองเชียงตุง มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเมืองเชียงใหม่เชียงรายของเรามาแต่ครั้งสร้างเมือง จึงอาจนับเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันทีเดียว แต่เชียงตุงในวันนี้ยังคงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ได้ อาจเป็นเพราะเหตุผลทางสังคมหรือการเมือง แต่เสน่ห์ของเชียงตุงก็คือความเป็นเชียงตุง อยากกลับไปอีกครั้งและพบกับเชียงตุงเมืองเดิมที่ชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมยังไม่ถูกละลายจนหายไปกับความเจริญที่ไหลเข้ามาอย่างไร้ขีดจำกัด....


เอกสารอ้างอิง


  • สู่ดินแดนเขมรัฐ เชียงตุง : ดนัย ชนกล้าหาญ
  • กว่าจะรู้ค่า....คนไทในอุษาคเนย์ : ธีรภาพ โลหิตกุล
  • เชียงตุง ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมืองโบราณและองค์ประกอบของเมือง ในโครงการศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยในภูมิภาคอุษาคเนย์ : เกรียงไกร เกิด ศิริ, คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชนชาติไทในรัฐฉาน กรณีศึกษา: อาคารท้องถิ่นเมืองเชียงตุง เมืองม้า เมืองลา : ผศ.ไกรทอง โชติวุฒิพัฒนา, คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
  • เรื่องเมืองเชียงตุง : อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว
  • เมืองลาริมแม่น้ำม้า : วีรพงษ์ รามากูร ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 29 ฉบับที่ 3692
  • http://www.tripandtrek.com

Traveler guide


# การข้ามแดน
ไม่ต้องขอวีซ่า ทำบัตรผ่านแดนที่ด่านแม่สาย สามารถใช้เดินทางไปได้ถึงเชียงตุง เมืองลา ในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ใช้รูปถ่ายสี 3 รูป บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา บัตรผ่านแดนต้องประทับตราครบทุกด่าน กลับมาที่ด่านท่าขี้เหล็กก่อนเวลาด่านปิด 18:00น.


# การเดินทาง จากท่าขี้เหล็กไปเชียงตุงเมืองลา เดินทางได้หลายวิธี
- นั่งรถโดยสารของพม่าจากท่าขี้เหล็กไปถึงเชียงตุง ท่ารถอยู่ฝั่งพม่า
- รถแท็กซี่นั่ง 4 คนจากท่าขี้เหล็ก ไปถึงเชียงตุงราคาเหมาประมาณ 1500-2000 บาท จะมีคนมาถามเมื่อคุณเดินข้ามไป คิวรถอยู่บริเวณวงเวียนไม่ไกลจากสะพานข้ามแดน
- ติดต่อรถตู้หรือรถเช่าพร้อมคนขับจากเมืองไทยไป เดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทฯจากทั้งเชียงใหม่และเชียงราย จัดทัวร์หรือให้เหมารถไปเชียงตุงเมืองลา
- นำรถข้ามไปเอง ต้องทำใบผ่านแดนของรถด้วยอีกต่างหาก ต้องศึกษารายละเอียดเรื่องการตรวจเอกสาร การจ่ายค่าผ่านทางให้ดี และรถขับเลนชิดขวา ต้องสลับด้านที่กลางสะพาน







No comments:

Post a Comment